กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--พม.
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง “เวทีฟังเสียงผู้หญิง ก่อนร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อระดมความคิดเห็นจากสตรีในภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เน้นให้มีการคำนึงถึงผู้หญิงและความเสมอภาคระหว่างเพศ
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า “สตรี” นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างการเจริญเติบโตให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในด้านการเมือง การบริหารและด้านสังคม ถึงแม้ในอดีตคนไทยจะมีค่านิยมที่กำหนดบทบาทหน้าที่หลักของสตรี ในด้านการดูแลครอบครัว ในปัจจุบันค่านิยมเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งหญิงและชายมีความเสมอภาค นับตั้งแต่เรื่องการศึกษา การทำงาน การเข้าถึงสิทธิในบริการของรัฐ ทำให้สตรีได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง และเริ่มมีบทบาทในสังคมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่เป็นกรอบกติกาของประชาคมโลก โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงการมุ่งส่งเสริมให้ทุกประเทศเน้นการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และส่งเสริมให้สตรีเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและการบริหารในทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕–๒๕๕๙) ในยุทธศาสตร์ที่ ๔ เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพสตรี เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมทางการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจในระดับต่างๆ
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ร่วมกับมูลนิธิสตรีเพื่อสันติภาพ และสถาบันพระปกเกล้า จัดงานสัมมนา “เวทีฟังเสียงผู้หญิง ก่อนร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นจากสตรีในภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เน้นให้มีการคำนึงถึงผู้หญิงและความเสมอภาคระหว่างเพศ และนำข้อเสนอดังกล่าวมอบต่อประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงความปรองดองสมานฉันท์ และการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของสตรี ให้มีส่วนร่วมในทางการเมือง การบริหาร และการตัดสินใจต่อไป
ทั้งนี้ “สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย สตรีจากหลายภาคส่วน อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสตรี ผู้นำชุมชนสตรีในหลายพื้นที่ และผู้แทนองค์กรเครือข่ายสตรีทั่วประเทศ จำนวน ๒๕๐ คน ภายในงาน มีการจัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลังสตรีกับรัฐธรรมนูญ” และเรื่อง “รัฐธรรมนูญแห่งความเสมอภาค” การเสวนาในหัวข้อ “การให้ความสำคัญกับผู้หญิงในรัฐธรรมนูญไทยและการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ” และมีการเปิดรับข้อเสนอ “ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่สมควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย กล่าวตอนท้าย