กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 88.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 92.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ราคาน้ำมันดิบยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาด และประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดใน OPEC เช่นซาอุดีอาระเบียและคูเวตกลับยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตกต่ำในขณะนี้ ที่แสดงว่าจะปรับลดเป้าหมายการผลิต ซึ่ง Royal Bank of Scotland (RBS) ประเมินความเป็นไปได้ที่ OPEC จะลดเป้าหมายการผลิต ประมาณ 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ลงจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 50% มาอยู่ที่ 30%
- Energy Information Administration หรือ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 381.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
- สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสที่ 3/57 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ -1.6% กล่าวคือญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ตามหลักเศรษฐศาสตร์ หลัง GDP ติดลบ 2 ไตรมาสซ้อน อันเป็นผลพวงจากการขึ้นภาษีผู้บริโภคจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 57
- HSBC ร่วมกับ Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน (Flash Manufacturing Purchasing Managers' Index) เดือน พ.ย. 57 ลดลงจากเดือนก่อน 0.4 จุด มาอยู่ที่ 50.4 จุด ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ทั้งนี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output Index) เดือน พ.ย. 57 ถดถอยอยู่ที่ระดับ49.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน บ่งชี้ภาคการผลิตของจีนหดตัว
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- การประชุมระหว่างผู้นำระดับสูงของกลุ่ม P5+1 และอิหร่านในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถหาข้อตกลงได้ภายในวันที่ 24 พ.ย. 57 และอาจขยายเวลาออกไปเป็นเดือน มี.ค. 58 ทั้งนี้นาย Bijan Zanganeh รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิหร่านเผยจะเพิ่มการส่งออกทันทีปริมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ถ้ามาตรการคว่ำบาตรยกเลิก อนึ่งปัจจุบันอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- นาย Rafael Ramirez รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเวเนซุเอลาเผยประเทศของตนพร้อมที่จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ หาก OPEC ตัดสินใจลดเพดานการผลิตลง โดยล่าสุดมีการพบปะนอกรอบกับผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ เช่น เม็กซิโก, อิหร่าน, อัลจีเรีย, กาตาร์, และรัสเซีย เพื่อหาแนวทางป้องกันราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ระหว่างวันทำการซื้อขายพุ่งขึ้นกว่า 2.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่81.61เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ก่อนปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 80.36 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังมีสัญญาณจากกลุ่ม OPEC ว่าอาจมีการปรับลดเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบหลังการประชุมสามัญประจำปีที่จะมีขึ้นในวันที่ 27พ.ย. 57 นี้ ซึ่งเวเนซูเอลา ได้แสดงตนว่าพร้อมที่จะทำการปรับลดปริมาณการผลิต หากมีมติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุม ทางด้านกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ Non-OPEC รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ว่ารัสเซียอาจทำการปรับลดปริมาณการผลิต เพื่อเป็นแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ทั้งนี้ดุลงบประมาณของรัฐบาลรัสเซียต้องการราคาน้ำมันดิบขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือสูงถึง 115 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพื่อชดเชยรายจ่ายทางการทหาร และมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศทางตะวันตก สืบเนื่องจากสงครามแบ่งแยกดินแดนในประเทศยูเครน ทางด้านเศรษฐกิจ People’s Bank of China (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ (Lending Interest Rate) สำหรับระยะเวลา 1 ปี ลง 0.4% มาอยู่ที่ 5.6% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Interest Rate) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.75% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่กำลังมุ่งหน้าสู่การขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 25 ปี ทั้งนี้ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent ,WTI และ ดูไบ สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.8-81.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , 73.2-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 75.3-80.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก ประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซียแถลงลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน (Subsidy) ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 2,000 รูเปียห์ต่อลิตร(5.40 บาทต่อลิตร) ทำให้ราคาเบนซิน 88 RON ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8,500 รูเปียห์ต่อลิตร (22.96 บาทต่อลิตร) ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในปี 58 ซึ่งเดิมร่างงบอุดหนุนราคาน้ำมันทุกชนิดอยู่ที่ 276 ล้านล้านรูเปียห์ (7.5 แสนล้านบาท) และPlatts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียเงียบเหงา โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ทางซีกโลกเหนือ (Northern Hemisphere) ถดถอย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ตามIES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ย. 57 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 930,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.65 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 88.5-93.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงจากอินโดนีเซียลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน (Subsidy) ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7,500 รูเปียห์ต่อลิตร (20.26 บาทต่อลิตร) และรัฐบาลอินเดียปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันขายปลีกที่ 1.5 รูปีต่อลิตร (0.79 บาทต่อลิตร) ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ที่เดลีอยู่ที่ 64.24 รูปีต่อลิตร และ Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมันในจีนหันมาผลิตน้ำมันดีเซลในอัตราสูงสุด เพื่อเตรียมรองรับอุปสงค์ช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ย. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 510,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.62 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และ National Development and Reform Commission ของจีนประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 180 หยวนต่อตัน (29 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) จากการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 57 มาอยู่ที่ 7,200หยวนต่อตัน หรือ 99.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 92 - 97เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
โทรศัพท์ 0-2537-2568 ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.
โทรสาร 0-2537-2171