กรุงเทพ--20 มิ.ย.--กรมอนามัย
กรมอนามัยห่วงใยปัญหาการสูญเสียการได้ยินและการบาดเจ็บร้ายแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เร่งหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหา โดยมีองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน พร้อมทั้งเตรียมจับมือกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานฯ ดูแลปัญหาอย่างจริงจัง
วันนี้ (20 มิถุนายน 2540) นายแพทย์ปรากรมฯ วุฒิพงศ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเรื่อง การป้องกันและแก้ไขการเกิดการสูญเสียการได้ยินและการบาดเจ็บร้ายแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก องค์การอนามัยโลก สมาคมสิ่งทอ ผู้แทนนายจ้าง และผู้ใช้แรงงานจากโรงงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ในพื้นที่ 5 จังหวัดในเขตปริมณฑล (สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี และปทุมธานี) รวมทั้งนักวิชาการจากศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 1, 2, 4 ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนนักวิชาการจากกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย ประมาณ 80 คน
นายแพทย์ปรากรมฯ กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยมาตั้งแต่แผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พบว่าปัญหาการสูญเสียการได้ยินและการประสบอันตรายจากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญ และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานและคนงานจำนวนมาก และตั้งกระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ และส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่เปิดดำเนินกิจการมานาน เครื่องจักรเก่าทรุดโทรม จึงนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
กรมอนามัยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบให้กองอาชีวอนามัยทำการศึกษาหาอัตราชุกของการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน และอัตราความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุของคนงานโดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และล่าสุดได้ผลการตรวจวัดระดับเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 34 แห่ง ใน 5 จังหวัดเขตปริมณฑล พบว่าในทุกแผนกมีระดับเสียงสูงเกินกว่า 91 เดซิเบล (เอ) ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานทางกฎหมายกำหนดไว้ และจากการตรวจสมรรถภาพการได้ยินในคนงาน 853 คน พบว่า ร้อยละ 57.2 มีการสูญเสียการได้ยินสำหรับการประสบอันตรายในการทำงานนั้น ร้อยละ 29.6 ได้รับอุบัติเหตุจากงาน โดยจะเกิดมากในแผนกทอผ้าคือ ร้อยละ 64.4 และแผนกปั่นด้าน ร้อยละ 24.7 อวัยวะที่ได้รับอุบัติเหตุมากที่สุดคือ แขนและมือ และร้อยละ 90.3 เป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยไม่ต้องหยุดงาน
นายแพทย์ปรากรมฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังและการบาดเจ็บจากการทำงาน โดยมีการอบรมให้ความรู้ สนับสนุนเครื่องมือตรวจสมรรถภาพได้ยินและเครื่องตรวจวัดระดับเสียงแก่ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งคาดว่าในปีงบประมาณ 2541 นี้ จะสามารถให้การสนับสนุนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ กรมอนามัยได้จัดให้มีรถตรวจสมรรถภาพการได้ยินเคลื่อนที่สำหรับให้บริการ โดยได้กำหนดนโยบายการดำเนินการเฝ้าระวังโรคประสาทหูเสื่อม ให้เป็นการดำเนินงานเชิงรุกและเน้นการป้องกัน รวมถึงการดูแลสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายก่อนที่จะเกิดการสูญเสียขึ้น นอกจากนี้ เพื่อลดการบาดเจ็บจากการทำงาน กรมอนามัยได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเพื่อเป็นแนวทางให้แพทย์ได้ใช้วินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้มีการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการทำงาน จัดทำแผนงานโครงการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานและลดอุบัติเหตุจากการทำงานลงให้ได้
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตนั้น อธิบดีกรมอนามัยเปิดเผยว่าจะมีการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับหน่วยบริการสาธารณสุข ภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เพื่อการดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อลดปัญหาประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังและการบาดเจ็บในสถานประกอบการ พร้อมทั้งรวมกันศึกษาวิจัยในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานต่อไปอันเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาการเกิดการสูญเสียการได้ยิน และการบาดเจ็บร้ายแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด--จบ--