กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร เผยตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนามมาแรง ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดมีอัตราการขยายตัวสูงเฉลี่ยร้อยละ 22.53 ต่อปี แนะเอสเอ็มอีไทยควรคว้าโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยม สร้างความแตกต่าง ช่วงชิงตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ชี้ชาพร้อมดื่ม และน้ำผักน้ำผลไม้พร้อมดื่มกำลังเนื้อหอม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร จัดทำรายงานพฤตกรรมผู้บริโภค AEC เรื่องตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนาม พบว่า เวียดนาม เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 88.78 ล้านคน และในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเวียดนามมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยปี 2556 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ร้อยละ 5.54
สำหรับประเทศไทย ตลาดเวียดนามนับว่ามีความสำคัญในด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านบาท ในด้านการลงทุนเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประมง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสัตว์ เป็นต้น ในด้านการบริโภคอาหารของชาวเวียดนามมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยนิยมรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ รูปแบบชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย รวมไปถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนามมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 – 2556 โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 19.95 ต่อปี สามารถจำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในภาชนะบรรจุ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.06 และเครื่องดื่มสัดส่วนร้อยละ 56.94 กล่าวเฉพาะตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2552-2556 มีอัตราการขยายตัวเชิงมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 22.53 ต่อปี และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2557
นอกจากนี้ยังพบว่า ชาพร้อมดื่มเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม โดยชาเขียวเป็นผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ครองส่วนแบ่งร้อยละ 77 ของตลาดชาพร้อมดื่ม รองมาคือ ชาสมุนไพรด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 15.50 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดชาพร้อมดื่มในเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552-2556 มีอัตราการขยายตัวเชิงปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 28.14 ต่อปี และมีอัตราการขยายตัวเชิงมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 27.68 โดยในปี 2556 ตลาดชาพร้อมดื่มของเวียดนามมีมูลค่า 14,822 พันล้านดง ด้วยปริมาณการบริโภค 1,155 ล้านลิตร
ขณะที่น้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม เป็นตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2552-2556 มีอัตราการขยายตัวเชิงปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 37.67 ต่อปีและมีอัตราการขยายตัวเชิงมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 35.44 ต่อปี เฉพาะในปี 2556 ตลาดน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มของเวียดนามมีมูลค่า 3,271.1 พันล้านดง ด้วยปริมาณการบริโภค 153.4 ล้านลิตร และคาดการณ์ว่า ในปี 2559 ตลาดน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 4,412.10 พันล้านดง ด้วยปริมาณการบริโภค 216.30 ล้านลิตร
สำหรับเครื่องดื่มให้พลังงาน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่ตลาดมายาวนาน แต่เพิ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เครื่องดื่มให้พลังงานมีอัตราการเติบโตเชิงปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 19.62 ต่อปี และมีอัตราการเติบโตเชิงมูลค่าเฉลี่ยร้อยละ 21.32 ต่อปี โดยในปี 2556 มีมูลค่า 1,351.2 พันล้านดง ด้วยการบริโภค 73.3 ล้านลิตร ในปี 2557 คาดว่าตลาดจะขยายตัวอยู่ที่ 1,459.30 พันล้านดง และจะโตถึง 1,655.1พันล้านดงในปี 2559
ด้วยความน่าสนใจทั้งในเรื่องขนาดตลาดและแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนาม จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม และจากข้อมูลสถิติการส่งออกของ กรมศุลกากรพบว่า “เครื่องดื่ม” เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไทยส่งออกไปเวียดนามมากที่สุด โดยมีเครื่องดื่มที่ไม่ อัดลมพร้อมบริโภคมีการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออก 6,255.67 ล้านบาทในปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 23.56 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปเวียดนาม โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 33.62 ต่อปี
อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดในการเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนาม โดยควรมุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยจำหน่ายในเวียดนาม (Product Differentiate) เพื่อสร้างความแตกต่าง อาทิ ชาพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องระดับพรีเมี่ยม เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ การนำผลไม้เฉพาะฤดูกาลมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มผลไม้เพื่อสุขภาพ เน้นจุดเด่นคือมีให้บริโภคได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น หรือการพัฒนาเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนัลระดับพรีเมี่ยมโดยการคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้อาจพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด โดยแนวโน้มการออกแบบบรรจุภัณฑ์เน้นรูปแบบที่เรียบง่าย แต่งดงาม โดยมุ่งเน้นไปที่การโชว์โลโก้ของแบรนด์ให้มีความโดดเด่น
โดยควรกระจายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเวียดนามที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้าเข้าสู่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมได้อย่างทั่วถึง และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หรือในอีกทางหนึ่ง คือ การนำสินค้าเข้าจำหน่ายในร้านค้าส่งขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมนิยมมาเลือกซื้อสินค้าไปจำหน่ายในร้าน
ขณะเดียวกันก็ควรให้ความรู้ (Education Marketing) กับผู้บริโภคผ่านบทความเกี่ยวกับสุขภาพในสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ควรเน้นการทำการตลาดโดยใช้กลยุทธ์การบอกต่อ (Referral Marketing)ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดการรับรู้ในตราสินค้า (Brand Awareness) และตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจะค่อนข้างเชื่อคำแนะนำของเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก โดยจะเลือกซื้อสินค้าที่รู้จักโดยจดจำจากเอกลักษณ์ของตราสินค้า (Brand Identity) โดยเฉพาะสี และรูปภาพที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ มากกว่าการจดจำชื่อตราสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปทำตลาดในเวียดนามจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเอกลักษณ์ของตราสินค้าให้โดดเด่น จดจำได้ง่ายพร้อมกันไปด้วย