กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จับมือองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือในการส่งเสริมสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศในประเทศไทย รับวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลประจำปี 2557 ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ผ่าน 2 แคมเปญใหญ่ “รักนวลสงวนสิทธิ์” (#SpeakUpWomen) ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งแก่สตรีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้เข้าใจและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ผ่านกล่องคู่มือหรือ Toolbox ที่นำผลงานการวิจัยอันเป็นประโยชน์มาให้ความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ส่วนอีกแคมเปญสุดยิ่งใหญ่คือแคมเปญระดับโลกที่โด่งดังมาแล้วในหลายประเทศอย่าง “HeForShe” ที่รณรงค์ให้สุภาพบุรุษตระหนักและให้ความสำคัญกับสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 องค์กร และการร่วมแสดงสัตยาบันเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และต่อสู้ยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบให้หมดไปจากสังคมไทยและสังคมโลก
ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตัวเลขอันน่าตกใจจากผลการวิจัยที่ทาง TIJ และ UN Women จัดทำขึ้น ประกอบกับข้อมูลทางสถิติอื่นๆ จากสถาบันวิจัยชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 36 จาก 75 ประเทศที่พบการกระทำรุนแรงทางร่างกายมากที่สุด และอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 71 ประเทศที่มีการกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด รวมทั้งในประเทศไทย ทุกๆ 15 นาที มีผู้หญิงถูกข่มขืน 1 คน มีคดีข่มขืนเกิดขึ้น 30,000 คดีต่อปี ในขณะที่มีการแจ้งความเอาผิดผู้กระทำเพียงแค่ 4,000 คดี และสามารถจับคนร้ายมาลงโทษได้จริงแค่ 2,400 คดี ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันฯ จึงเล็งเห็นถึงปัญหาในปัจจุบันและได้จัดตั้งโครงการ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ หรือ #SpeakUpWomen จัดทำสิ่งพิมพ์เผยแพร่คู่มือ (Toolbox) เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการช่วยเหลือและการเสริมพลังให้แก่สตรีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ โดยมุ่งเน้นให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์/ศูนย์ช่วยเหลือสังคม แพทย์และพยาบาล สังคมและคนในครอบครัว รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปฏิบัติเมื่อตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงรวมทั้งรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิ์ต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม”
“นอกเหนือจากแคมเปญ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ ของ TIJ เองแล้ว เรายังมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติอย่าง UN Women ในการสนับสนุนและแนะนำให้คนไทยได้รู้จักกับ ‘HeForShe’ แคมเปญระดับโลกซึ่งรณรงค์ให้สุภาพบุรุษทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญกับสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยสถาบันฯ รู้สึกเป็นเกียรติในการมีส่วนร่วมช่วยผลักดันโครงการดังกล่าว และยังเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับสากล” ดร. กิตติพงษ์ กิตยรักษ์ กล่าวเสริม
นางโรแบร์ตา คลาร์ก ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “UN Women เป็นหน่วยงานที่มุ่งสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่งเสริมสิทธิ และเสริมพลังของผู้หญิง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง จึงดำเนินการทั้งด้านกรอบกฏหมาย นโยบายต่างๆ ตลอดจนการปฏิบัติ และการสร้างเสริมทัศนคติในสังคมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ UN Women มีความยินดีที่ได้รับความร่วมมือจาก TIJ ในการสนับสนุนโครงการ ‘HeForShe’ ของ UN Women โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความตระหนักกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงจะเป็นจริงไม่ได้ หากผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม อีกทั้งความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดแนวร่วมจากประชากรอีกครึ่งหนึ่ง นั่นก็คือผู้ชาย”
โครงการ HeForShe ของ UN Women เกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้สุภาพบุรุษทั่วโลก เข้าร่วมเป็นภาคีต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะมุ่งมั่นในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และการแบ่งแยกกีดกันทางเพศทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ซึ่งรวมถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบด้วย ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว ส่วนมากแล้วจะเป็นการต่อสู้ของสตรี แต่ทว่า ในระยะหลังๆ นี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงความกังวลของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว กลุ่มสุภาพบุรุษจำนวนมากเริ่มเห็นความสำคัญ เล็งเห็นถึงในความไม่เสมอภาคในด้านต่างๆ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และออกมาร่วมต่อสู้กับความอยุติธรรมดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อะการสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในทางปฎิบัติอย่างแท้จริง