กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลสำเร็จอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หลังประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อรองรับฉลากฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) หวังสร้างไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาเซียนที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ ความหลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถขยายตลาดไปยังประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ได้ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม นำร่องพัฒนา 8 ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มชั้นนำในไทย ประกอบไปด้วย ประชาอาภรณ์ ธนูลักษณ์ แชมป์กบินทร์ แชมป์เอช บ้านเชียงคาร์เป็ท วีเคการเม้นท์ เอาท์ดอร์อินโนเวชั่น และแอลฟ่าโปรเซสซิ่ง สู่ผลสำเร็จ 8 ผลิตภัณฑ์แรกของสิ่งทอในไทยและครั้งแรกในอาเซียน ที่ประเมินฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ ตามแนวทางมาตรฐานของสหภาพยุโรป ประกอบไปด้วย ชุดชั้นในชาย เสื้อโปโลกอล์ฟ เสื้อเชิ้ต พรมขนแกะทอมือ เสื้อโปโลผ้าฝ้าย กางเกงยีนส์ขายาว SLIM FIT ถุงนอน และผ้าผืนพอลิเอสเทอร์หน่วงไฟ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จัดทำฉลากฯ นั้น จะต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) และสามารถสรุปผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3-4 ด้านที่สำคัญ จาก 14 ผลกระทบ อาทิ สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน การลดลงของชั้นโอโซน ภาวะพืชน้ำเติบโตผิดปกติ การใช้น้ำและการใช้ที่ดิน ฯลฯ โดยคาดว่าผลสำเร็จจากโครงการฯ จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ ตามทิศทางการค้าในตลาดสหภาพยุโรปและตลาดโลก ที่ประกาศนโยบาย Single Market for Green Products หรือ ตลาดสินค้ามาตรฐานเดียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไทยส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปสหภาพยุโรป ช่วงเดือน มกราคม-กันยายน 2557 มูลค่า 842.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากสหภาพยุโรป 243.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหากไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจรจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และสร้างโอกาสในการส่งออกและการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 545 หรือที่ www.thaitextile.org , facebook : Thailand Textile Institute
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศเกิดความตื่นตัว และตระหนักในการลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับกลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มผู้จัดจำหน่าย เพื่อให้เกิดการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีระบบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน และหลายขั้นตอน ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การใช้งานการจัดเก็บขนส่งและการจัดการซากของผลิตภัณฑ์ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยร้อยละ 25 ของการผลิตสารเคมีทั่วโลก ถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และจากข้อมูลปี พ.ศ. 2551 พบว่าทั่วโลกมีการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากถึง 6 หมื่นล้านกิโลกรัมต่อปี มีการใช้พลังงานในการผลิตประมาณ 1,074 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้ถ่านหินประมาณ 132 ล้านเมตริกตันต่อปี และมีการใช้น้ำ 6-9 ล้านล้านลิตร โดยรวมตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน อาทิ การลดลงของทรัพยากร ความเป็นพิษต่อมนุษย์ ตลอดจนการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดสายโซ่อุปทาน (Supply Chains) โดยใช้มาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์นำเข้า ผ่านการพิจารณาวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Approach) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำหนด ฉลากฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) เพื่อให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านใดบ้าง ซึ่งฉลากฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม เป็นฉลากกลุ่มใหม่ที่ได้มีการนำร่องจัดทำในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เริ่มโดยประเทศฝรั่งเศส ดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 -2559
จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อนำร่องผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่มีความหลากหลายตั้งแต่ผ้าผืน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเคหะสิ่งทอ ให้มีความรู้ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้หลักการฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ ตามทิศทางการค้าในตลาดสหภาพยุโรปและตลาดโลก ที่ประกาศ Single Market for Green Products หรือ ตลาดสินค้ามาตรฐานเดียวเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอนับเป็นอุตสาหกรรมสาขาแรกของประเทศไทยและของอาเซียน ที่มีการศึกษาประเมินฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม
นางสุทธินีย์ กล่าวต่อว่า โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 8 โรงงาน เป้าหมายคือ วิเคราะห์และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ 14 ผลกระทบ ตามแนวทางมาตรฐานของสหภาพยุโรป อาทิ สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน การลดลงของชั้นโอโซน ภาวะพืชน้ำเติบโตผิดปกติ การใช้น้ำและการใช้ที่ดิน เป็นต้น โดยผลการประเมินสามารถทำให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ซึ่ง 8 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอนำร่องนี้ ถือเป็นรายแรกของประเทศและรายแรกของอาเซียน ที่ได้จัดทำฉลากฟุตพริ้นท์สิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) ประกอบไปด้วย
1. ผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในชาย บริษัท แชมป์กบินทร์ จำกัด
2. ผลิตภัณฑ์เสื้อโปโลกอล์ฟแขนสั้น บริษัท แชมป์เอช จำกัด
3. ผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ตแขนยาว บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน)
4. ผลิตภัณฑ์พรมขนแกะทอมือ บริษัท บ้านเชียงคาร์เป็ท จำกัด
5. ผลิตภัณฑ์เสื้อโปโลผ้าฝ้าย บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด(มหาชน)
6. ผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์ขายาว SLIM FIT บริษัท วีเค การ์เมนท์ จำกัด
7. ผลิตภัณฑ์ถุงนอน บริษัท เอาท์ดอร์อินโนเวชั่น จำกัด
8. ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนพอลิเอสเทอร์หน่วงไฟสำเร็จรูป บริษัท แอลฟ่าโปรเซสซิ่ง จำกัด
สำหรับผลการประเมินดังกล่าว จะสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาขับเคลื่อนนโยบายฟุตพริ้นท์เพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไป โดยมีสำนักนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม การจัดทำฉลากฟุตพริ้นท์เป็นความสมัครใจของผู้ผลิต เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตในการส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัจจัยการตลาดที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการค้าขาย ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยสามารถนำมาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองรวมทั้งรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และขยายตลาดไปยังประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งเป็นประเทศที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม นางสุทธินีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ไทยส่งออกอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปสหภาพยุโรป ช่วงเดือน มกราคม-กันยายน มูลค่า 842.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการส่งออกสิ่งทอ 322.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.52 และเครื่องนุ่งห่ม 519.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 ในขณะที่ไทยนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากสหภาพยุโรป 243.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นสิ่งทอ 180.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องนุ่มห่ม 63.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหากอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบวงจรซึ่งเป็นเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย และสร้างโอกาสในการส่งออกและการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 545 หรือที่ www.thaitextile.org , facebook : Thailand Textile Institute