กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล เพื่อกระตุ้นให้สังคมทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำและคนที่อยู่รอบข้างเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังมีรูปแบบการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ เช่น การด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ทอดทิ้ง หรือการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ข่มขู่ การนอกใจ การบังคับให้ค้าประเวณี การเพิกเฉยไม่สนใจไยดี หรือแม้แต่การโพสต์ข้อความผ่าน Social Network ที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย เป็นต้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในชั่วชีวิตหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก มากกว่า 70% มีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรง ขณะที่ รายงานของยูนิเซฟ (UNICEF) เรื่อง Hidden in Plain Sight ที่อ้างอิงข้อมูลจาก 190 ประเทศเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็ก ระบุว่า เหยื่อฆาตกรรม 1 ใน 5 คนทั่วโลกเป็นเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่ง เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ประมาณ 120 ล้านคนทั่วโลก เคยประสบกับการบังคับร่วมเพศหรือการกระทำทางเพศอื่นๆ ผู้กระทำคือสามีหรือคนใกล้ชิด สำหรับ ประเทศไทย หน่วยงานสตรีขององค์การสหประชาชาติ (UN Women) ได้รายงานว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงอยู่ในลำดับที่ 36 จาก 75 ประเทศที่มีการกระทำความรุนแรงทางกายมากที่สุดและอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 71 ประเทศ ที่มีการกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด นอกจากนี้ จากข้อมูลการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ (OSCC) กระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 พบว่า สถิติการให้บริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น เฉลี่ยวันละ 87 คน ร้อยละ 60 เป็นเด็ก จำนวนนี้เกือบ9 ใน 10 เป็นเด็กหญิง ส่วนใหญ่อายุ 10-15 ปี ลักษณะความรุนแรง อันดับแรก คือ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี พบมากในกลุ่มอายุ 35-45 ปี ถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายมากที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบด้านจิตใจเป็นบาดแผลภายในใจที่ไม่อาจลบเลือนไปได้ง่ายๆ อาการที่ปรากฏ ได้แก่ ตื่นตระหนก หวาดกลัว รู้สึกว่าสู้ไม่ได้ หนีไม่ได้ สิ้นหวัง สูญเสียความมั่นใจ หรือความภาคภูมิใจ รู้สึกโดดเดี่ยว ด้อยค่า เก็บกด เก็บตัว หลายคนเกิดโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย รวมทั้ง มีการดื่มสุรา ใช้สารเสพติด หรือบางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเห็นภาพ หรือมโนภาพของความรุนแรงนั้นซ้ำๆ ฝันร้าย หวาดผวา พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบบุคคลหรือหลีกเลี่ยงที่จะไปยังสถานที่ที่ทําให้หวนคิดถึงเหตุการณ์นั้นอีก ตลอดจนอาจกลายเป็นผู้กระทํารุนแรงต่อบุคคลอื่นได้ ส่วนเด็กที่ถูกกระทํารุนแรง จะมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ บางคนแสดงอาการก้าวร้าวรุนแรง หลายคนซึมเศร้า มีปัญหาการเรียน อาจหาทางออกของปัญหาโดยการหนีออกจากบ้าน เร่ร่อน ขอทาน ก้าวร้าว และมีโอกาสคบเพื่อนไม่ดี กระทําผิดกฎหมายหรือใช้สารเสพติด นอกจากนี้ เด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ย่อมเกิดผลกระทบทางจิตใจไม่ต่างกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศโดยตรง โดยเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยอมรับความรุนแรงมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ ขณะที่เด็กผู้ชายมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อภรรยาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า กับดักทางความคิด ทัศนคติ และความเชื่อบางประการที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้สตรีและเด็กต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอยู่เรื่อยไป ได้แก่ 1.ชอบตัดสิน โดยมีความเชื่อหรือเข้าใจว่าเพศชายนั้นมีสิทธิโดยชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง เห็นได้จากรายงานของ UNICEF ที่ระบุว่า เด็กหญิงอายุ 15-19 ปีทั่วโลกเกือบครึ่ง เชื่อว่าผู้ชายมีความชอบธรรมที่จะทุบตีภรรยาหรือคู่ครอง 2.ชอบแก้ตัว/ใช้ข้ออ้าง ให้กับการกระทำรุนแรงของผู้ชาย เช่น มองว่าเกิดจากความเครียด โดยมักคิดว่า ผู้ชายไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมรุนแรงได้ 3.ไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรง ไม่ตระหนักว่าควรจัดการเมื่อตัวเองถูกกระทำความรุนแรง มักคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว น่าอับอาย หลีกหนี ไม่กล้าบอก 4.ไม่ยอมรับ ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น มองว่าพฤติกรรมหรือการกระทำดังกล่าวไม่ใช่พฤติกรรมรุนแรง และ 5 ความคิดกล่าวโทษ มองว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางสำคัญในการก้าวออกจากความรุนแรง ได้แก่ การตระหนักถึงศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง ที่มีสิทธิเรียกร้องหากถูกกระทำความรุนแรง นอกจากนี้ ควรตระหนักว่า ตนเองอาจมีส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดหรือลดความรุนแรงลงได้ โดยอาจสื่อสารกันด้วยคำพูดเชิงบวก หรือระมัดระวังการแต่งกายหรืออากัปกิริยาต่างๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้น เสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรง ตลอดจน ใส่ใจการกระทำ ไม่มองข้ามการกระทำที่เล็กน้อย โดยเฉพาะการกระทำที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งจะช่วยลดปฏิกิริยารุนแรงที่สะท้อนกลับมาหาตัวเราอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญ ควรกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ
"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวของใคร หากพบเห็นต้องไม่เพิกเฉย รีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา แนะนำแหล่งข้อมูลหรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน หรือ หากพบคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำความรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนขอรับบริการศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว