กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
เมื่อวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาภาคเกษตรและเสริมสร้างเศรษฐกิจชองชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ในจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยการเกษตรของ สวก. เพื่อมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศ ตลอดจนการสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย ผลงานวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วน คือ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และชุมชน สำหรับ 5 โครงการวิจัยที่นำคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมในครั้งนี้ทาง สวก. ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย แก่ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการวิจัยและพัฒนา โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุพรรณบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี กรมประมง และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีโครงการวิจัยดังต่อไปนี้
1.“หอยมุกน้ำจืด” สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรไทยรายได้งาม อีกก้าวหนึ่งของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะวิจัยไทยประสบความสำเร็จ สามารถเพาะเลี้ยงลูกหอยให้มีอัตรารอดสูง เพิ่มผลผลิต นำมาผลิตเป็นไข่มุกในเชิงพาณิชย์ เตรียมเปิดตลาดไข่มุกในเมืองไทยรองรับ ครั้งแรก!!
หอยมุกน้ำจืด เป็นหอยกาบน้ำจืดหรือหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเปลือกหนา ความยาวเปลือกประมาณ 18-20 เซนติเมตร ภายในมีความแวววาวของชั้นมุก แหล่งใหญ่ที่ผลิตในต่างประเทศคือจีนและสหรัฐอเมริกา ในอดีตมีการรวบรวมหอยมุกน้ำจืดส่งไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปทำเป็นแกนในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไข่มุก ทำให้หอยชนิดนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว กรมประมงจึงได้เริ่มรวบรวมหอยมุกน้ำจืดที่พบในเมืองกาญจน์ตั้งแต่ปี 2528 มาทำการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์ในเชิงอนุรักษ์ จากนั้นจึงได้มีการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในปี 2534 โดยลูกหอยมีอัตราการรอดตายที่สูงขึ้นในอัตรา 30,000 ตัวต่อปี แต่ปริมาณนี้จะประสบปัญหาหากจะทำในเชิงพาณิชย์แน่นอน คณะนักวิจัยจึงได้ ขอทุนสนับสนุนจาก สวก. เพื่อทำการวิจัยเพิ่มปริมาณลูกหอย โดยเน้นเรื่องอัตรารอดเป็นหลัก เพื่อดำเนินการศึกษาลูกหอยขนาด 200 ไมครอน-- 1 ซม.และขนาด 1-3 ซม. เพื่อเร่งให้ลูกหอยโตเร็วพอและนำมาปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ เพื่อกระตุ้นให้ขับสารออกมาเคลือบเป็นไข่มุก ส่วนสีของไข่มุกที่ได้จะแตกต่างกันไปตามชนิดของหอย ได้ไข่มุกรูปร่างกลม พร้อมกับศึกษาปัจจัยเรื่องคุณภาพน้ำ อาหาร พันธุกรรม ฯลฯ ด้วย ทำให้ปัจจุบันได้อัตราการรอดที่สูงมากถึง 50% หรือ 30,000 ตัวต่อ 1 ระบบเลี้ยง (4 เดือน) ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่อัตรารอดจะอยู่ที่ 4-6% หรือ 30,000 ตัว/ปีเท่านั้น ซึ่งหอยมุกน้ำจืดนี้ จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ที่เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจให้กับเกษตรกรไทยไม่น้อย ก่อให้เกิดธุรกิจไข่มุกน้ำจืดแบบครบวงจรในประเทศไทย ที่เป็นห่วงโซ่ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเพาะหอย การฝังไข่มุก การเลี้ยงมุก อุตสาหกรรมเครื่องประดับ เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านการประดิษฐ์ไข่มุก เป็นการสร้าง Brand ของไทย เกิดการจ้างงาน โดยแรงงานจะถูกพัฒนาเพื่อเข้าไปเรียนรู้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่ในเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว รวมถึงจะมีการเปิดตลาดค้าขายตลาดไข่มุกในเมือง ซึ่งยังไม่เคยมีการทำมาก่อน
2.ทีมนักวิจัยไทยขยับไปอีกขั้น ต่อยอดงานวิจัยเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดสำเร็จ!! ด้วยการศึกษาอาหารของหอยเชิงลึก สามารถคัดชนิดของแพลงก์ตอนและปริมาณที่เหมาะสม ช่วยลูกหอยมีอัตรารอดสูงขึ้นและโตเร็วขึ้น ตั้งเป้าขยายพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น
การศึกษาวิจัยอาหารของไข่มุกน้ำจืดชิ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ต่อเนื่องมาจาก “โครงการการพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” ด้วยแนวคิดที่มองว่า ในเมื่อหอยมุกน้ำจืดมีการทดลองเพาะเลี้ยงจนทำให้มีอัตรารอดสูงขึ้นแล้ว ในเรื่องของการเจริญเติบโต ซึ่งปกติจะให้อาหารจากธรรมชาติ ทีมนักวิจัยพบว่ามีปริมาณความหนาแน่นของอาหารน้อยมาก อาจไม่เพียงพอกับความหนาแน่นของลูกหอยที่เพิ่มขึ้น โดยอาหารที่เหมาะสม หมายถึงสิ่งที่หอยสามารถกรองเข้าไปแล้วย่อยได้ อีกทั้งสามารถดูดซึมเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาหารของหอย โดยเริ่มจากศึกษาว่าหอยกินอะไร เพื่อจะได้เตรียมอาหารเข้าไปในระบบ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกหอยมีอัตราการรอดที่สูงขึ้นและมีการเติบโตที่เร็วขึ้นและดีกว่า และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น สำหรับหอยมุกน้ำจืดจะกินสิ่งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำคือแพลงก์ตอนพืชเป็นหลัก ซึ่งในน้ำจะมีทั้งตะกอนและสารต่าง ๆ วิธีศึกษาคือ ดูว่าในน้ำนั้นมีอะไรบ้าง จากนั้นแยกแพลงก์ตอนออกมาเป็นชนิด แล้วเลี้ยงเดี่ยว หากหอยกินชนิดใด จะประเมินได้จากอัตราการรอดและการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ที่ผ่านมพบว่าหอยมีความจำเพาะในการที่จะเลือกกินอาหาร โดยเฉพาะในระยะที่ยังไซส์ยังเล็กไม่เกิน 3 ซม. ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติของหอยที่อัตราการรอดอาจจะไม่สูงนัก จากการศึกษาวิจัยสามารถได้ชนิดของแพลงก์ตอนที่จะนำมาอนุบาลลูกหอยเพื่อผลิตอาหารได้ตรงตามความต้องการของหอยแต่ละระยะ พร้อมกับผลิตอาหารเพียงพอต่อความต้องการของหอยในการเลี้ยงเชิงพาณิชย์อีกด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดในโรงเพาะพันธุ์ และใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการทำฟาร์มเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการสร้างอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสูงอีกด้วย
3.เรื่องของ ”ปลาม้า” ทีมนักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์แบบครบวงจร อีกไม่นานปลาม้าที่หายาก จะเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส
ปลาม้า เป็นปลาน้ำจืดที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาจรวด มีรูปร่างเพรียวเล็กไปทางด้านท้ายลำตัว ลำตัวค่อนข้างแบน พื้นตัวมีสีเทาอ่อน หลังมีสีเทาปนดำ ความยาวประมาณ 25-30 ซม.เป็นปลาพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดสุพรรณบุรี มีชุกชุมมากในอำเภอบางปลาม้า เนื้อมีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยปลาม้าขนาดตัวละประมาณ 3 กิโลกรัมมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท นับเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีอนาคตสดใส นอกจากเนื้อที่มีรสชาติอร่อยแล้ว กระเพาะปลาม้ายังนิยมนำมาทำกระเพาะปลาและใช้ทำเป็นยางในของรถจักรยานและทำกาวได้ด้วย ปัจจุบันในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปลาม้าเหลืออยู่น้อยมากเนื่องจากการจับและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แม้ปลาม้าจะวางไข่ตลอดปีและการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะทำในวิธีธรรมชาติได้ แต่การอนุบาลลูกปลาม้ายังประสบปัญหาเนื่องจากลูกปลามีอัตรารอดต่ำและขาดแคลนอาหารที่เหมาะสม ในช่วงฤดูน้ำหลากลูกปลาม้ามีอัตรารอดเพียง 5% เท่านั้น
คณะนักวิจัยของกรมประมงจึงได้ศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.การวิจัยพัฒนาระบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และระบบเพาะพันธุ์ปลาม้า 2.การวิจัยพัฒนาระบบการอนุบาลลูกปลาม้าวัยอ่อนจนถึงขนาด 4 นิ้ว 3.การวิจัยพัฒนาอาหารและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของปลาม้าวัยอ่อนจนถึงขนาด 4 นิ้ว 4.การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งการวิจัยนี้จะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพันธุ์ปลาม้าให้มีอัตรารอดเพิ่มขึ้นจากเดิม 5% เป็น 20% ได้สูตรอาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับการอนุบาลปลาม้าและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของปลาม้าจากการอาหารมีชีวิตเป็นอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ยังได้ระบบโรงเพาะฟักแบบน้ำหมุนเวียนสำหรับเพาะขยายพันธุ์พร้อมระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อปรับเสถียร โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาม้า ธุรกิจการจำหน่ายปลาน้ำจืด อุตสาหกรรมการผลิตอาหารปลา ฯลฯ จะได้รับประโยชน์ โดยประโยชน์ระยะสั้น คือ สามารถผลิตลูกปลาม้าขนาด 4 นิ้ว ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะส่งเสริมให้นำไปเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ส่วนผลในระยะยาวคือสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร
4. “ปลาเสือตอ” ขยายพันธุ์ได้แล้ว ธุรกิจเงินสะพัดแน่!! ทีมนักวิจัยไทยสามารถเพาะทดแทนการจับและปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจเชิงการค้าเต็มรูปแบบ
ปลาเสือตอลายเล็กมีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล เป็นปลากินเนื้อ มีฤดูการวางไข่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ของทุกปี อาศัยบริเวณตอไม้และกองหินใต้น้ำ เป็นปลาสวยงามที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ พบได้ในแม่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาบริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานีและยโสธร ส่วนใหญ่ปลาเสือตอลายเล็กที่นำมาเป็นปลาสวยงามจะถูกรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากการที่ถูกจับขึ้นมาในปริมาณมากเพื่อเป็นปลาสวยงาม จึงปริมาณปลาลดลงอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมากรมประมงมีการทดลองเพาะขยายพันธุ์ตั้งแต่ปี 2525 แม้ว่าจะสามารถผลิตลูกปลาเสือตอลายเล็กวัยอ่อนโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติแต่อัตราการรอดตายจากการอนุบาลลูกปลาเสือตอลายเล็กยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การเพาะและขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การกระตุ้นความสมบูรณ์เพศของพ่อแม่พันธุ์ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และลูกปลาวัยอ่อน ชนิดอาหารที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้มีความสมบูรณ์เพศและเพิ่มอัตรารอดของลูกปลาวัยอ่อน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น สุขภาพของลูกปลา พันธุกรรม คุณภาพน้ำ คุณภาพอาหาร และโดยเฉพาะความสามารถในการย่อยอาหารของลูกปลาวัยอ่อน
เพื่อเข้าถึงความสำเร็จของการเพาะขยายพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กให้ได้ปริมาณเพียงพอที่จะทดแทนในแหล่งน้ำธรรมชาติและเพื่อเพาะเลี้ยงเชิงการค้า สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัย แก่ กรมประมง เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงปลาเสือตอลายเล็กให้เจริญพันธุ์ในที่กักขังในระบบปิด อาหารที่เหมาะสม เทคนิคและวิธีการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการกระตุ้นพ่อแม่พันธุ์ปลาให้มีความพร้อมในการผสมพันธุ์ด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยวิธีการฉีดกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมรวมถึงวิธีการฝังฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นช้าๆ อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง สวก. ยังได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ คณะนักวิจัย ม.อุบลราชธานี เพื่อศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาการสืบพันธุ์ การกินอาหาร และการประเมินอายุของปลาเสือตอลายเล็กในบริเวณลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาวิธีการเพาะและขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ทั้งระยะและพัฒนาการของระบบสืบพันธุ์ ความสมบูรณ์เพศอายุ การเจริญเติบโต และลักษณะเนื้อเยื่อทางท่อทางเดินอาหารรและการทำงานของ digestive enzyme ของปลาเสือตอลายเล็กในแต่ละฤดูกาล โดยใช้แผนกิจกรรมใน 3 หัวข้อหลักคือ1.ชีววิทยาการสืบพันธุ์และปัจจัยที่มีผลต่อความสมบูรณ์เพศของปลาเสือตอลายเล็ก 2.การทำงานของ digestive enzyme และลักษณะเนื้อเยื่อวิทยาของระบบทางเดินอาหาร ของปลาเสือตอลายเล็ก 3.การศึกษาอายุ และการเจริญเติบโตจากการอ่านวงปีกระดูกหูของปลาเสือตอลายเล็ก
ซึ่งสำหรับประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้นักวิชาการ สามารถนำข้อมูลพื้นฐานของชีววิทยาการสืบพันธุ์ไปใช้ในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ หรือสามารถจัดการคุณภาพน้ำและอาหารสำหรับการเพาะและขยายพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ส่วน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจัดการอาหารและคุณภาพน้ำให้เหมาะสมสำหรับการเพาะและขยายพันธุ์ปลา หรือประชาชนในแถบบริเวณลุ่มน้ำโขงจะได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ให้ปลาเสือตอสามารถแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่จะทราบถึงความสำคัญของแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ นำไปสู่การอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติและส่งเสริมเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงทำการเพาะและขยายพันธุ์ได้ต่อไปด้วย
1.“หอยมุกน้ำจืด” สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรไทยรายได้งาม อีกก้าวหนึ่งของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” จากโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการการพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดและการผลิตไข่มุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” โดยนางสาวอ้อมเดือน มีจุ้ย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี กรมประมง
2.ทีมนักวิจัยไทยขยับไปอีกขั้น ต่อยอดงานวิจัยเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดสำเร็จ!! ด้วยการศึกษาอาหารของหอยเชิงลึก” จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอาหารในกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดเพื่อการพาณิชย์” โดยหัวหน้าโครงการ นายวชิระ กิติมศักดิ์ กรมประมง
3.เรื่องของ ”ปลาม้า” วันนี้ยังไม่สาย !! ทีมนักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์แบบครบวงจร” จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีระบบการผลิตปลาม้าเชิงพาณิชย์” โดยนายสนธิพันธ์ ผาสุกดี สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด
4. ชาวสุพรรณฟังไม่ผิด “ปลาเสือตอ” ขยายพันธุ์ได้แล้ว ธุรกิจเงินสะพัดแน่!! จากโครงการวิจัยเรื่อง “การผลิตปลาเสือตอลายเล็กเพื่อการเพาะเลี้ยงเชิงการค้า” โดยนายกฤษฎา ดีอินทร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุพรรณบุรี กรมประมง
5.รู้เขา-รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครา!!! ทีมนักวิจัย ม.อุบลฯ นำปลาเสือตอมาศึกษาวิเคราะห์ทางชีววิทยาทุกแง่มุม จากโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการการศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์ การกินอาหาร และการประเมินอายุของปลาเสือตอลายเล็กในบริเวณลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาวิธีการเพาะและขยายพันธุ์” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ แหลมคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นอกจากการเยี่ยมชมศักยภาพโครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในโอกาสเดียวกันนี้ สวก.ยังได้เปิดตัวกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 สืบเนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ชื่อ “รักพ่อ” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ณ บริเวณท้องสนามหลวง และบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัด บูรณาการร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรอบแนวคิดหลักในการจัดงาน คือ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” และได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำแผนการดำเนินโครงการต่อเนื่องตลอดปี 2558 โดยให้สับเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพในแต่ละเดือน โดย สวก. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคม 2558 ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ สวก. จึงใคร่ขอเชิญชวนพี่น้องสื่อมวลชน และประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสมหามงคลนี้ และขอเชิญชมนิทรรศการในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 และกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯ ตลอดทั้งปี 2558 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับผู้สนใจโครงการวิจัยต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – สวก. ที่หมายเลข 02-579-7435 แฟกซ์ 0-2579-8413 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.arda.or.th