กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของคนวัยทำงานต่อการจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,375 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 -25 พฤศจิกายน 2557
ผลการสำรวจการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุน พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.3 สนใจติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุน ในขณะที่ร้อยละ 44.7 ไม่สนใจ
เมื่อสอบถามถึงสัดส่วนของรายรับและรายจ่ายในแต่ละเดือน พบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.0 ระบุมีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ ในขณะที่ร้อยละ 24.5 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และร้อยละ 22.5 มีรายจ่ายเท่ากับรายรับ อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงการจัดสรรรายได้ในแต่ละเดือน พบว่า ตัวอย่างกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.8 ได้มีการจัดสรรรายได้ไว้บางส่วนเพื่อการออมและการลงทุน ร้อยละ 32.9 จัดสรรรายได้บางส่วนเพื่อการออมเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ร้อยละ 20.8 ใช้จ่ายโดยไม่มีเงินเดือนเหลือเก็บออมหรือลงทุน และร้อยละ 7.5 จัดสรรรายได้บางส่วนไว้เพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว
และเมื่อสอบถามถึงแนวทางการปฏิบัติเมื่อต้องมีการตัดสินใจใช้เงิน พบว่า ตัวอย่าง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.7 เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์จึงตัดสินใจใช้เงิน ร้อยละ 21.9 ขึ้นอยู่กับความพร้อม ร้อยละ 20.6 จะรอให้ราคาสินค้าลดลงก่อนแล้วจึงตัดสินใจใช้เงิน ร้อยละ 16.9 จะเปรียบเทียบราคาก่อน ค่อยตัดสินใจ และร้อยละ 6.9 ตัดสินใจทันทีที่ต้องการใช้เงิน
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือเมื่อให้กลุ่มตัวอย่างคาดการณ์ระยะเวลาที่เงินสำรองที่เก็บไว้จะหมดไปกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิด พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.5 ระบุไม่เกิน 1 ปีเงินสำรองที่เก็บไว้จะหมด ร้อยละ 35.8 ระบุมากกว่า 1 ปี และร้อยละ 26.7 ยังไม่มีเงินสดสำรองไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิด
สิ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้สึกวิตกกังวลในฐานะทางการเงิน พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 49.3 ระบุเป็นการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาหรือร้อยละ 48.4 ระบุสภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 36.4 ระบุหน้าที่การงานที่ไม่แน่นอน ร้อยละ 32.7 เท่ากันระบุราคาน้ำมันและสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ร้อยละ 13.7 ระบุอัตราดอกเบี้ย และร้อยละ 12.4 ระบุอัตราเงินเฟ้อ
เรื่องของรูปแบบการวางแผนทางการเงินที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจมาก – มากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 51.2 ให้ความสนใจกับการออมเงินฝากกับธนาคาร รองลงมาหรือร้อยละ 32.9 ให้ความสนใจกับการซื้อบ้าน ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 31.2 ให้ความสนใจกับการซื้อทอง เพชร และสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 31.0 ให้ความสนใจกับการซื้อประกันชีวิต และร้อยละ 28.6 ให้ความสนใจกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ตามลำดับ
นอกจากนี้เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงความตั้งใจในการวางแผนทางการเงินเพื่อชีวิตในอนาคต พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.7 มีความตั้งใจมาก – มากที่สุด ร้อยละ 30.6 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 6.6 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 10.1 ระบุน้อย- ไม่ตั้งใจเลย และเมื่อสอบถามต่อไปถึงรายได้ต่อเดือนที่วางแผนไว้หลังเกษียณอายุ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 19.1 ระบุไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 47.9 ระบุ 1 – 3 หมื่นบาทต่อเดือน ร้อยละ 9.6 ระบุ 3 – 5 หมื่นบาทต่อเดือน ร้อยละ 5.1 ระบุมากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 18.3 ไม่ได้วางแผนไว้
ประเด็นสุดท้ายเมื่อสอบถามถึงความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 4.2 ระบุมีความสุขมากที่สุด ร้อยละ 67.6 ระบุค่อนข้างมาก – มาก ร้อยละ 26.2 ระบุปานกลาง ร้อยละ 1.9 ระบุค่อนข้างน้อย – น้อย และร้อยละ 0.1 ไม่มีความสุขเลย โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 7.09 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.5 ระบุเป็นเพศหญิง ร้อยละ 49.2 ระบุเป็นเพศชาย และร้อยละ 0.3 ระบุเพศอื่นๆ ด้านอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.3 อายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 36.1 อายุระหว่าง 25 – 35 ปี ร้อยละ 41.0 อายุระหว่าง 36 – 45 ปี และร้อยละ 13.6 อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ด้านการศึกษา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 64.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี และด้านอาชีพ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.7 ประกอบอาชีพค้าขาย /ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 31.1 อาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 22.5 อาชีพรับจ้างทั่วไป และ ร้อยละ 6.7 อาชีพข้าราชการ