กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง มุมมองประเทศไทยในทรรศนะของแกนนำชุมชน กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 624 ชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2557
ผลการสำรวจเมื่อสอบถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ ร้อยละ 96.3 ระบุติดตามเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 3.5 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.2 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนที่มีต่อสถานการณ์ของประเทศไทยผ่านการแสดงความรู้สึกต่อข้อความในลักษณะต่างๆ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 88.1 ระบุพร้อมที่จะเป็นคนหนึ่งที่จะรักและช่วยเหลือคนอื่นๆ ร้อยละ 87.0 ระบุวันนี้ยังรู้สึกภูมิใจที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย และร้อยละ 84.1 ระบุยังรู้สึกว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีคุณธรรมอยู่ นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 77.7 ระบุยังรู้สึกพูดได้เต็มที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม และรู้สึกว่าประชาชนคนไทยในสังคมยังรักและเกื้อกูลกัน ในขณะที่ร้อยละ 76.5 ระบุเมื่ออยู่ในสภาวะที่เดือดร้อน ยังรู้สึกว่าคนไทยเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน ร้อยละ 64.5 ระบุโลกของเราจะน่าอยู่กว่านี้ ถ้าคนชาติอื่นๆ เป็นเหมือนกับคนไทย ร้อยละ 55.9 ระบุรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความสงบสุข และสันติมากที่สุด อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 34.9 ระบุยังมีเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ทำให้รู้สึกว่าน่าละอาย และถูกชาวต่างชาติมองประเทศไทยไม่น่าอยู่
และเมื่อสอบถามถึงความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันจากคำกล่าวที่ว่า “คุณค่าของความเป็นไทยอยู่ที่ ความรักความสามัคคี ความจงรักภักดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ” นั้นพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.9 ระบุยังคงเป็นจริงอยู่ทุกอย่าง ในขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุมีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และร้อยละ 19.7 ระบุไม่มีอะไรเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไปหมดทุกอย่างแล้ว”””
นอกจากนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่มีผู้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน/ต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและ คสช.นั้น พบว่า ร้อยละ 74.5 ระบุอยากให้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในขณะที่ ร้อยละ 64.9 ระบุไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง ร้อยละ 64.3 ระบุอยากให้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างสงบ ร้อยละ 58.0 ระบุหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ร้อยละ 56.7 ระบุอยากให้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างผู้ที่เจริญแล้ว ร้อยละ 49.4 ระบุไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ร้อยละ 49.2 ระบุหลีกเลี่ยงการยั่วยุให้เกิดความโกรธแค้น ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลหรือ คสช.ที่ควรแสดงออกต่อกลุ่มผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน/ต่อต้านนั้น ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุให้ยุติการเคลื่อนไหวโดยการเจรจาสร้างความเข้าใจร่วมกัน ร้อยละ 24.1 ระบุเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหวต่อไปโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปโดยสงบ ร้อยละ 7.5 ควรเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข และร้อยละ 0.8 ระบุยุติการการเคลื่อนไหวโดยวิธีอื่นๆ
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อสถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วงปีใหม่ พ.ศ.2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้นั้น พบว่าโดยภาพรวมแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.3 ระบุยังมีความหวังที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าในปีใหม่ที่จะถึงนี้ ในขณะที่ร้อยละ 16.7 ระบุมีความกลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า สอดคล้องกันกับเมื่อวิเคราะห์จำแนกตามจุดยืนที่มีต่อรัฐบาลและ คสช.นั้นที่พบว่า ตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกกลุ่มยังคงมีความหวังที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สนับสนุน หรือไม่สนับสนุน คสช. และกลุ่มผู้ที่ขออยู่ตรงกลางก็ตาม