กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--กสท โทรคมนาคม
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) มอบรางวัล ICT Best Practice Awards 2014 แก่สุดยอดธุรกิจของไทยที่พัฒนาระบบไอซีทีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดธุรกิจ พัฒนาและบริหารจัดการในองค์กรดีเยี่ยม งานมอบรางวัลเกียรติยศ ICT Best Practice 2014 เพื่อเสริมสร้างธรรมมาภิบาลให้แต่ละองค์กร
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งเป็นประธานกรรมการการตัดสิน รางวัล ICT Best Practice 2014 ได้กล่าวถึงการจัดโครงการในครั้งนี้ “โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง CAT ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ผลักดันรางวัล ICT Best Practice Awards เพื่อสร้างกำลังใจให้กับบุคคลากรด้านไอซีที และเป็นแรงบันดาลใจให้กับองค์กรต่างๆ ในการนำ IT ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์กร และ กลุ่มลูกค้า ซึ่งถือไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร หลังจากที่มีการเผยแพร่ความสำเร็จนี้แล้ว ทาง CAT เชื่อว่าองค์กรธุรกิจอื่น ๆ จะได้นำเอาแนวทางซึ่งมีความเหมาะสมในแต่ละธุรกิจไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นประโยชน์ได้”
สำหรับการตัดสินรางวัลครั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรที่มีความโดดเด่น ทั้งระบบการสื่อสารภายในองค์กร การบริหารจัดการวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้า หรือการบริการ การตลาดและการขาย การบริหารการเงินและการบัญชี การจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือคู่ค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงการพัฒนาระบบที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือความเป็น Green IT โดยสุดยอดผู้ประกอบการจาก 7 ประเภทธุรกิจได้รับมอบรางวัล ทรงเกียรติจาก นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย CAT เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ดังนี้
1. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการวัตถุดิบ รวมถึงคิดค้นแอพพลิเคชั่นของตัวเองเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้า อุณหภูมิ ขนาด น้ำหนัก ความสะอาดให้ได้มาตรฐาน การบริหารจัดการคลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพและ Farm Management การบริหารฟาร์มโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ควบคุมขั้นตอนทุกกระบวนการเลี้ยงสัตว์ สามารถลดความผิดพลาดได้ 100%
2. กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารธนชาต มีการพัฒนาระบบไอทีในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การให้บริการสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชันบน iPad ทำให้ลูกค้าสามารถรับบริการสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว หรือการติดตั้งระบบป้องกันมิจฉาชีพคัดลอกข้อมูลแถบแม่เล็กบนบัตร ATM บนเครื่อง ATM ของธนชาต แบบ 100% เป็นต้น
3. กลุ่มธุรกิจประกันภัย ได้แก่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมระบบเคลมสินไหมแบบไร้รอยต่อ โปร่งใส ตรวจสอบได้บนระบบออนไลน์ รวมถึงสร้างศูนย์ Call Center เสมือนจริง ปฏิบัติงานโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ทุพพลภาพจากอุบัติภัยทางรถทั้งหมด ให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงจากที่บ้าน ที่จังหวัดไหนก็ได้ในประเทศ
4. กลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ บริษัท แวนเทค เวิลด์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด โดดเด่นด้วยระบบบริหารจัดการ Freight Forwarder แบบครบวงจร ควบคุมการขนส่งสินค้าได้ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงทำงานคู่กับกรมศุลกากร สร้างความรวดเร็วในการดำเนินงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของกระดาษและการจัดเก็บเอกสาร
5. กลุ่มธุรกิจบันเทิง ได้แก่ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีความโดดเด่นในการบริการงานระบบของโรงภาพยนตร์ที่เป็นเลิศ สามารถเลือกสรรภาพยนตร์ที่เข้าฉายในแต่ละรอบได้อย่างแม่นยำ ปรับเปลี่ยนรอบฉายอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพื่อการให้บริการกับลูกค้า ให้มีความพึ่งพอใจมากที่สุด
6. กลุ่มธุรกิจบริการ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือธุรกิจการบินแบบเต็มรูปแบบ มีเครื่องบินไปยังทุกภูมิภาคของโลก มีระบบเชื่อมโยงไปยังแต่ละสาขาในต่างประเทศ เชื่อมต่อไปยังสายการบินต่างๆ ที่เป็นรูปแบบพันธมิตรกัน มีความซับซ้อนของระบบมากกว่า ธุรกิจการบินของ Low Cost การนำเทคโนโลยี ICT จึงมีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจมากยิ่งขึ้น การบินไทยมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยง ทั้งรูปแบบของการออกบัตรโดยสาร ระบบเน็ตเวิร์กที่มีการเชื่อมต่อในภายในประเทศและทั่วโลก ระบบการดูแลลูกค้าที่มีจำนวนมากมาย หรือการสื่อสารให้กับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการให้บริการความบันเทิงต่างๆ บนเครื่อง ระบบ Wi-Fi ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในระหว่างบินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เหล่านี้ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การบินไทย สามารถสื่อสารและตอบสนองต่อผู้โดยสารมากว่า 54 ปี ทั้งนี้เพื่อการดูแลลูกค้าอย่างไม่สิ้นสุด
7. กลุ่มธุรกิจพลังงาน ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีการพัฒนาแอพพลิเคชันต่างๆ ในรูปแบบของตัวเอง เลือกสรรเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อการปรับเข้าสู่ระบบงานที่แท้จริง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ รวมทั้งการบริหารงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Logistic, Payment ระบบการทำธุรกรรมกับลูกค้า สามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟน ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันทำการ
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “CAT เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดกระแสการพัฒนานวตกรรมด้านไอทีในภาคธุรกิจของไทยมากขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไอซีทีของไทยให้ทัดเทียมและเหนือกว่าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มภูมิภาคเอเซียพร้อมรับการแข่งขันในช่วงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 2015 ซึ่งในปีหน้าเราจะจัดโครงการต่อเนื่อง และเปิดกว้างให้กับกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้มีโอกาสในการแสดงศักยภาพการพัฒนาระบบไอซีทีอย่างชาญฉลาดและเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จขององค์กร นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นการคืนกำไรให้กับกลุ่มธุรกิจ ด้วยจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการวางระบบไอซีทีสำหรับองค์กรตลอดปี 2558 ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จะได้รับสิทธิการเข้ารับการอบรมด้วยเช่นกัน”
ติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวโครงการ ICT Best Practice Awards ครั้งต่อไปได้ทาง www.cattelecom.com