กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
กระแสการปรับเปลี่ยนสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่สถานศึกษาต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคต่อไป สิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นให้เยาวชนพร้อมเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 คือ การสร้างให้รู้จักคิด และเข้าใจในวิถีชีวิตของแต่ละคนบนวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง มีทักษะการคิด การเรียนรู้ การทำงาน การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วย ใจเป็นธรรม มีเมตตาและรู้จักการให้
โรงเรียนสารสาสน์เอกตราจึงเตรียมความพร้อมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะชีวิตเพื่อให้ทันต่อกระแสสังคมโลก ด้วยการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำ Y.5-Y.6 โดยให้นักเรียนที่สมัครและได้รับคัดเลือกเข้าโครงการมาร่วมกิจกรรมเสริมทักษะ และเรียนรู้บทบาทความเป็นผู้นำ และผู้ตาม ตลอดจนคุณสมบัติอื่นๆ ที่จะสามารถพัฒนาตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนคนอื่นๆ
อาจารย์สุภาวดี โชติวรรณพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประถมและมัธยม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า “โรงเรียนให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทักษะผู้นำในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำขึ้น ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 แล้ว มีการวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย โอกาส และอุปสรรค์จากรุ่นก่อนหน้านี้แล้วพบว่า หากมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการตอบโจทย์แนวทางการส่งเสริมและแก้ไขพฤติกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังทักษะและคุณธรรมที่มีค่ายิ่งในการดำเนินชีวิตแก่นักเรียนต่อไป
สำหรับรุ่นที่ 2 นี้ กลุ่มงานพัฒนาวินัยและอภิบาลนักเรียน โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา แผนกประถม ได้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่สมัครเข้าค่าย โดยดูจากความประพฤติ และความรับผิดชอบของนักเรียน ซึ่งได้ตัวแทนนักเรียนทั้งหมด 26 คน มาพัฒนาทักษะในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการสื่อสาร การร่วมมือทำงานเป็นทีม ทักษะความคิด การแก้ไขปัญหา การมีจิตสาธารณะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ผ่านกิจกรรม Walk Rally 5 ฐาน ซึ่งในแต่ละฐานจะมีเกมให้นักเรียนได้เล่น และแฝงแง่คิดจากการเข้าฐานนั้นๆ
กิจกรรมต่อมาคือ สะพานมิตรภาพ เป็นการฝึกทำงานเป็นทีม ด้วยการสร้างสะพานจาก ทิชชู่ เชือกฟาง กระดาษ แผ่นยาง ท่อนไม้ ซึ่งจะต้องใช้ความสามัคคีกัน และฝึกให้แต่ละกลุ่มคิดวางแผนแก้ปัญหาร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันได้ด้วย ตามทฤษฎี Win Win Win และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Leadership เป็นการให้นักเรียนร่วมกันคิดโครงการดีๆ ที่จะทำเพื่อโรงเรียน แล้วนำเสนอแนวคิดนั้นต่อคณะครูและเพื่อนๆ โดยโครงการที่น่าสนใจ และผ่านการคัดเลือกจะได้รับการต่อยอดเพื่อทำให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
นอกจากครูจะเสริมภาวะความเป็นผู้นำแก่นักเรียน ด้วยการให้คิดทำโครงการที่เป็นประโยชน์เพื่อโรงเรียน และส่วนรวมแล้ว ก็จะมีการพานักเรียนไปดูงานนอกสถานที่ด้วย เช่น กิจกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น เมื่อนักเรียนมีทักษะความรู้ตามระบบของการพัฒนาความเป็นผู้นำที่เน้นว่า “การกระทำ” สำคัญกว่า “คำพูด” รุ่นน้องก็จะเห็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของรุ่นพี่ที่ทำไว้ในช่วงที่มีค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำ เมื่อถึงกิจกรรมเลือกตั้งสภานักเรียน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นักเรียนรุ่นพี่จะต้องจัดตั้งพรรคเพื่อรับเลือกตั้ง การที่พรรคใดมีจิตสาธารณะ มีเป้าหมายการทำงานชัดเจน ลงมือปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนเป็นหลัก รุ่นน้องก็จะเห็นได้เองว่าเป็นผลงานของพรรคไหนที่ชื่นชอบ แล้วจึงตัดสินใจเลือกพรรคนั้นๆ
การฝึกทักษะนักเรียนให้มีความเป็นผู้นำ ผู้ตาม ในการเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำในครั้งนี้ ทางโรงเรียนได้นำหลักทฤษฎีของโจฮัน กัลตุง ผู้โด่งดังเรื่องสันติภาพ มาใช้ด้วย โดยเน้นให้นักเรียนมีหลักการคิดว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่แพ้ หรือชนะ และไม่ใช่เสมอกัน 2 ฝ่าย หรือ Win Win แต่ต้องเรียกว่า 3 ชนะ หรือ Win Win Win หมายถึง บุคคลที่1 ชนะ บุคคลที่2 ชนะ และบุคคลที่3 ชนะ หรือส่วนรวมชนะ ได้รับประโยชน์เหมือนๆ กัน เป็นแนวคิดที่ทำให้นักเรียนรู้จักสิทธิของตัวเอง รู้จักสิทธิของผู้อื่น และรับผิดชอบสิทธิในการอยู่ร่วมกัน เพื่อการพัฒนาตนเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ที่มีคุณภาพต่อไป” อาจารย์สุภาวดี กล่าวสรุป