กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--พลัส พร็อพเพอร์ตี้
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร แนะอาคารสำนักงานเร่งสำรวจความพร้อม เตรียมรับนโยบายเรื่องมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน มั่นใจตลาดเช่าได้รับอานิสงส์ตรง โดยเฉพาะค่าเช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังต้องเร่งแก้ไขภาวะขาดแคลนแรงงานด้านบริหารอาคารที่จะเติบโตไปพร้อมกับภาคธุรกิจและอสังหาฯ
นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (Mr. Chan Sirirat, Assistant Managing Director, Plus Property Company Limited) ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า “จากการที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter : IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Company : ITC) เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงอำนวยความสะดวกให้มีการตั้ง IHQ และ ITC ในไทย ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ให้สิทธิประโยชน์เหมือนกับสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ราวต้นไตรมาสแรกของปี 2558 นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนด้วย ในฐานะของผู้ทำงานด้านการบริหารอาคารสำนักงานมากว่า 17 ปีมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของอาคารสำนักงานภายในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะส่งผลบวกโดยตรงกับธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า จากนโยบายข้างต้นของรัฐบาล และหากเปรียบเทียบค่าเช่าอาคารสำนักงาน พบว่ากรุงเทพฯ มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้การตัดสินใจเลือกสถานที่ลงทุนหรือการขยายธุรกิจของชาวต่างชาติมักจะเลือกประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่ง เกิดการจ้างแรงงานต่างๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นต่อจากนี้คือ ผู้บริหารอาคารหรือเจ้าของอาคารควรเร่งเตรียมการปรับปรุงอาคารสำนักงานให้มีความทันสมัย ปลอดภัย สภาพแวดล้อมอยู่ในมาตรฐานระดับสากล ปรับปรุงระบบการจัดการต่างๆ ให้รองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยและพัฒนา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ทำการสำรวจตลาดอาคารในกรุงเทพฯ พบว่ามีจำนวนมากกว่า 3,000 อาคาร (อาคารสูง 7 ชั้น และสูงเกิน 30 ชั้น) แบ่งเป็นอาคารใหม่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมีไม่ถึง 1,000 อาคาร (33.33%) และอาคารส่วนใหญ่มีอายุราว 20 ปีขึ้นไป ซึ่งในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาปรับปรุงให้พร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ตลอดจนรองรับในเรื่องมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศด้วยเช่นกัน
หากพิจารณาในส่วนพื้นที่ปล่อยเช่า ปัจจุบันเริ่มพบระดับราคาปรับตัวสูงขึ้นมากอาจเป็นผลจากการปรับปรุงพื้นที่เช่าและปรับตัวรองรับการเติบโตในอนาคต เนื่องจากปี 2558 จะเกิดการเปิดเออีซีคาดว่าจะมีความต้องการพื้นที่อาคารสานักงานปล่อยเช่าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ หลายอาคารพบว่ามีอุปสงค์ลงจองพื้นที่เช่าล่วงหน้าในอาคารที่กาลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงการเตรียมพร้อมของอุปสงค์ในตลาดนี้ จึงคาดว่าตลาดอาคารสานักงานจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในระดับสูง และคาดว่าในอนาคตอุปทานสะสมจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดอาคารใหม่ในพื้นที่ สุขุมวิท สีลม-สาทร รัชดาภิเษก พหลโยธิน และสุขุมวิทรอบนอก เป็นต้น
“ในภาพรวมต่อจากนี้ การสำรวจความพร้อมของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญอีกประการคือความต้องการแรงงานและบุคลากรทางด้าน Facility Management หรือการบริหารจัดการอาคาร ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ในส่วนของพลัส พร็อพเพอร์ตี้เอง เราได้เตรียมความพร้อมในส่วนนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการวางกลยุทธ์พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการอาคารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาคารได้อีกทาง” นายชาญ กล่าว