กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--เซอร์ (ไทยแลนด์)
การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างงาน และปัจจัยอื่นๆ อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยนำความชำนาญที่แต่ละฝ่ายมีอยู่มาเสริมกันและกัน ก็จะก่อให้เกิดการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนา AGV Robots จัดเป็นหุ่นยนต์ประเภทเคลื่อนที่ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นพาหนะขนส่งชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ไม่ต้องใช้คนขับในสายการผลิต เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนทุนวิจัยแก่ทีมนักวิจัยและนักศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลหรือ DSTAR สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อผลิตรถ AGV Robots ขึ้นเป็นพิเศษ
โครงการวิจัยและพัฒนารถ AGV ต้นแบบนี้ เป็นการปูทางให้นักวิจัยและนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงของภาคอุตสาหกรรม และยังเป็นการจุดประกายให้มีความร่วมมือระหว่างทีมงานหลายฝ่ายของซีเกท เช่น ทีม contamination ทีมอัตโนมัติ และทีมพัฒนาด้านการออกแบบ เป็นต้น กับคณะนักวิจัยของวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูล สจล. ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นสาขาหุ่นยนต์ การสื่อสารไร้สาย (Wireless communication) ไฟฟ้า รวมทั้งระบบการมองเห็น (Vision Systems)
รองศาสตราจารย์ ดร. สมยศ เกียรติวนิชวิไล รองคณบดีฝ่ายวิจัย DSTAR, สจล. และ นายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาของโครงการนี้ร่วมกันให้ข้อมูลว่า “รถคันนี้แตกต่างจากรถ AGV ทั่วไป โจทย์ที่ท้าทายคือต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้ Wi-Fi และ Wireless และการป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนหรือ contamination และการคายประจุไฟฟ้าสถิตหรือ Electrostatic Discharge (ESD) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สำคัญของการทำงานใน clean room ในสายการผลิตฮาร์ดดิสก์ นอกจากนี้จะต้องไม่มีการติดเทปแม่เหล็กในพื้นผิวทางเดินรถ รวมถึงศักยภาพของหุ่นยนต์ที่จะต้องมีการอัดประจุแบตเตอรี่ในระหว่างทางที่วิ่งไปได้โดยไม่ต้องอาศัยการวิ่งกลับไปยังสถานีอัดประจุ โดยทำการติดตั้งเครื่องอัดประจุแบบไร้สายไว้ยังตำแหน่งต่างๆ ของทางเดินขึ้นแทน ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในโครงการวิจัยนี้คือการร่าง CAD ที่มีรายละเอียดทุกอย่างสอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานจริง หลังจากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนการสร้างรถ AGV ให้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จากนั้นนำรถ AGV ไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานภายในห้องทดลองของซีเกท ซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลของ สจล.และทดสอบจริงที่โรงงานเป็นขั้นตอนสุดท้าย”
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือในการพัฒนารถ AGV Robots เป็นโครงการที่ทางซีเกทเป็นผู้ตั้งโจทย์ให้ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือการที่บริษัทเอกชนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านการวิจัยให้ก้าวหน้าต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริเดช บุญแสง คณบดี DSTAR, สจล. กล่าวว่า “ทางวิทยาลัยการจัดการข้อมูล สจล. มีความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนากับซีเกทมาตลอดระยะเวลาหลายปี ทั้งในด้านการวิจัยเฉพาะด้านระบบการควบคุมและระบบอัตโนมัติ การวิจัยเฉพาะทางด้านคุณสมบัติของหัวบันทึกข้อมูล การวิจัยเฉพาะทางด้านความน่าเชื่อถือทางกล เป็นต้น ความร่วมมือในการพัฒนารถ AGV Robots เป็นการต่อยอดความร่วมมือในงานวิจัยที่ผ่านมา และช่วยให้การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยในอนาคตเป็นไปในทิศทางที่จะเพิ่มคุณค่าและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น”
กล่าวได้ว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกทและวิทยาลัยการจัดการข้อมูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ช่วยส่งเสริมการวิจัยของไทยและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมต่อไป