ผลงาน 3 ปีของความร่วมมือไทยและสหภาพยุโรปเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2014 17:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--GIZ “เมื่อเร็วๆ นี้โครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน-ประเทศไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรป ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปบทเรียนที่ได้จากการร่วมมือตลอดระยะเวลา 3 ปีขึ้น โดยนำเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น หน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเทศบาลยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประชุมครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ โครงการฯ ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมนโยบายด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โครงการฯ อยู่ภายใต้โปรแกรมหลัก SWITCH-Asia ซึ่งสหภาพยุโรปได้ให้ทุนสนับสนุน และร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียรวม 19 ประเทศเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนทั้งในภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในประเทศไทย หน่วยงานหลักที่ดำเนินโครงการฯ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์เพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนแห่งวุฟแพร์ไทล์ (Wuppertal) ประเทศเยอรมนี ให้ความร่วมมือด้านวิชาการ ดร. สมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีความยินดีที่ได้ร่วมดำเนินโครงการฯ ซึ่งช่วยสนับสนุนการส่งเสริมตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว และทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โครงการฯ ยังทำให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อสร้างตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และอุตสาหกรรมสีเขียว และทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดมลภาวะ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิต ตามที่ได้ระบุไว้ใน SWITCH Asia Networking Forum นายสเตฟาน ชลอยนิ่ง หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่โครงการฯ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนระหว่างหน่วยงานรัฐบาล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐและเอกชน เห็นได้ว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นดำเนินนโยบายการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศระดับแนวหน้าในภูมิภาค ส่วนในภาคประชาชนก็มีการตอบรับที่ดี เพราะมีความพยายามในการนำการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งทุกประเทศจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าคนในรุ่นถัดไปจะมีมาตรฐานการครองชีพและมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี” --------------------------------- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นิลส์ จูล บูช หัวหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน-ประเทศไทย โทรศัพท์ +66 2 354 5105 หรือ +66 8 8499 7387 อีเมล์ niels.busch@giz.de ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ GIZ โทรศัพท์ +66 2 661 9273 ต่อ 63 อีเมล์ siriporn.treepornpairat@giz.de --------------------------- ในภาพ (จากซ้าย) มร. สเตฟาน ชมิด ผู้จัดการโครงการอาวุโส องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศเยอรมนี นายสากล ฐินะกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายมนตรี บุญพาณิชย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร. สมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสเตฟาน ชลอยนิ่ง หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มร. ดาวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย นางสุทธิยา จันทวรางกูร ผู้แทนจากสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และ มร. นิลส์ จูล บูช หัวหน้าโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน-ประเทศไทย ในการประชุมสรุปผลงานความร่วมมือ 3 ปีระหว่างรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรปในโครงการการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน-ประเทศไทย ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมนโยบายด้านผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ