กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักเลขาธิการ BRIA ภูมิภาค
Better Rice Initiative Asia (BRIA) ได้เลือก 8 ศูนย์ข้าวชุมชน (Community Rice Center) ในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อการดำเนินโครงการสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการไปสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ
ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายถึงเกณฑ์การเลือกสถานที่ว่า พื้นที่ที่เลือกควรมีส่วนร่วมของเกษตรกร โดยมี ‘Smart Farmer’ มีการขนส่งสะดวก แหล่งน้ำเพียงพอ การสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล และความเข้มแข็งของศูนย์เมล็ดพันธุ์ชุมชน (Community Seed Center)
ศูนย์ข้าวชุมชน 8 แห่ง ที่เลือกอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอตระการพืชผล อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเหล่าเสือโก้ก และอำเภอบุณฑริก
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการ BRIA ภูมิภาค กล่าวว่า BRIA จะสนับสนุน ศูนย์ข้าวชุมชนทั้ง 8 แห่ง ด้วย โครงการสร้างขีดความสามารถ โดยการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มการผลิต หนึ่งในศูนย์ข้าวชุมชน จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘นิวเคลียส’ หรือ ศูนย์กลางที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการจัดการแปลงนา ในขณะที่อีกเจ็ดแห่ง จะเป็นเครือข่ายที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จาก ‘ศูนย์กลาง’ แต่ละศูนย์ข้าวชุมชนจะแบ่งปันความรู้ให้กับเกษตรกรในชุมชนใกล้เคียง หลังจากที่อุบลราชธานี โครงการจะขยายไปยัง ศูนย์ข้าวชุมชน ในจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด จนในที่สุดสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบโดยการมีส่วนร่วม (Participatory Impact Pathways Analysis) การฝึกอบรมสำหรับสร้างขีดความสามารถจะได้รับการออกแบบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรในท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน
นายอุดร ชมาฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดมี 24 เขต 295,393 ครอบครัวเกษตร พื้นที่เพาะปลูกข้าว 4.29 ล้านไร่ แบ่งออกเป็น 3.06 ล้านไร่สำหรับข้าวสาร ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 437 กก./ไร่ และ 1.23 ล้านไร่ สำหรับข้าวเหนียว ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 447 กก./ไร่ มีศูนย์ข้าวชุมชน177 แห่ง อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว แสดงความเห็นว่า การผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังขาดประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชอบการเพาะปลูกโดยการหว่าน มากกว่าการดำนา เนื่องจากขาดแรงงาน โดยปกติการปลูกข้าวโดยการหว่าน จะให้ผลผลิตที่ต่ำกว่า เนื่องจากวัชพืช กรมการข้าวจะให้การสนับสนุนและผลักดันแนวคิดของการจัดการแปลงนาขนาดใหญ่โดยการรวมแปลงขนาดเล็ก พร้อมการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความเห็นว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะจัดแบ่งเขตพื้นที่การเกษตรออกเป็น พื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมต่อการทำนา แนวคิดเรื่องการจัดแบ่งเขตและลักษณะของแต่ละเขตควรมีการสื่อสารในลักษณะที่ชัดเจนและง่ายเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงนโยบายอีกด้วย
ระยะเวลาในการดำเนินงานของโครงการ BRIA คือ จาก 2556-2560