กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--Ripple Effect
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในเวทีสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557 จัดโดยบริษัทอักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการศึกษาของไทยถูกออกแบบมานาน ทำให้ล้าสมัย ไม่สามารถสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะนี้รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างเร่งปฏิรูปการศึกษา
โดยคำนึงถึงหัวใจของการศึกษา คือ การเรียนการสอน มุ่งสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน โดยเห็นความสำคัญที่จะให้เวลาครูได้อยู่ในห้องเรียนมากขึ้น เพื่อให้มีเวลาคิดสร้างสรรค์ในการสอนใหม่ๆ จากปัจจุบันที่ครูต้องออกไปทำโครงการต่างๆ รวมถึงระบบการประเมินครูที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ส่งผลให้ครูใช้เวลานอกห้องเรียนกว่า 30-40%
ขณะเดียวกันต้องปรับระบบ ด้วยการลดอำนาจของส่วนกลางไปสู่คนทำงานจริง ให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีแผนจะดำเนินการในพื้นที่นำร่อง
นอกจากนี้ต้องนำเทคนิคใหม่ในการเรียนการสอนมาใช้ เช่น โครงการพี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน ภายใต้การดูแลของครู ทำให้เด็กมีพัฒนาการในการเรียนดีขึ้น รวมถึงการดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม และติดตามการเรียนการสอน เช่น การจัดให้ผู้ปกครองได้เข้าพบครูรายวิชาของเด็กเป็นระยะๆ
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเดินหน้าได้อยู่ที่ความต่อเนื่อง ดังนั้นนโยบายการศึกษาต้องออกนอกการเมือง ซึ่งเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เพื่อให้แผนปฏิรูปการศึกษาระยะยาวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือทุกฝ่ายต้องปรับวิธีคิดใหม่เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทของคณะครุศาสตร์ในการพัฒนาการศึกษาของไทยในวันนี้และจะทำอย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนาวิชาชีพครู ให้มีความสามารถ และเป็นครูที่ดี
อย่างไรก็ตามการพัฒนาการศึกษาไทยเป็นภารกิจที่ท้าทายโดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่าน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องลงมือทำทันที
ด้านนายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวตอนท้ายว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาไทยที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น อยู่บนพื้นฐานสำคัญ4 ด้าน ประกอบด้วย
1. วิสัยทัศน์ ที่ต้องกำหนดทิศทางประเทศให้ชัดเจน 2. สร้างแรงบันดาลใจให้ครู ผู้ปกครอง และคนทั้งประเทศเห็นภาพร่วมกัน 3. การลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพี ซึ่งของไทยคิดเป็น 3.8% เท่านั้น นับเป็นสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาการศึกษาโดดเด่น เช่น ฟินแลนด์มีสัดส่วน 6 % เกาหลีใต้ 5% ฮ่องกง 4.5% สิงคโปร์ 4% ส่วนเวียดนามลงทุน 5.3 % โดยภาครัฐ ผู้ปกครอง และองค์กรเอกชน ต้องเข้ามาร่วมลงทุนเรื่องการศึกษาด้วย 4. ความไว้วางใจ โดยมอบให้ครูเป็นแกนกลาง และตัดสินใจสร้างนวัตกรรมเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยด้วยตนเอง เพราะครูเป็นผู้รู้จักห้องเรียนตนเองดีที่สุด
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ครูซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ กลับมีภาระด้านการประเมินผลนอกห้องเรียนกระทั่งไม่ได้มีเวลาพัฒนาการสอนในห้องเรียน ดังนั้นจึงเสนอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องปรับการประเมินวัดผลให้กระชับมากขึ้น เพื่อให้ครูได้มีเวลาเตรียมพัฒนาการสอนในห้องเรียน
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาระดับโลก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาการศึกษาของประเทศต่างๆ ให้กับผู้บริหารและครูของโรงเรียนทั่วประเทศมากกว่า 1,000 คน