กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--พม.
วันนี้ (๔ธ.ค.๕๗) เวลา ๐๙.๓๐ น. นายวิเชียรชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเวทีสาธารณะเรื่อง“แนวทางการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. ....” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในแต่ละภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปกฎหมายนี้ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ๓ ชั้น๔ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายวิเชียรชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อจะปรับปรุงและพัฒนากฎหมายสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการรองรับที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีกประมาณ ๒๐ ปีข้างหน้า จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง ๑๖ ล้านคน หรือประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และยังไม่เหมาะสมเพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการแก่กลุ่มผู้สูงอายุต้องตระหนักถึงความครอบคลุมและสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายในเชิงพื้นที่ โดยสวัสดิการสังคมมี ๔ ด้าน คือ การบริการสังคม การช่วยเหลือทางสังคม การประกันสังคม และการช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน ซึ่งกฎหมายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับกับสภาพดังกล่าว
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. ....” เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในแต่ละภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปกฎหมายนี้ และได้จัดทำความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงอายุ โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. .... ขึ้นมาเป็นแนวทาง อยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญ คือ ๑) การขยายการคุ้มครองสิทธิและเข้าถึงสิทธิ ๒) การกระจายอำนาจ ในการจัดโครงสร้างคณะกรรมการ กองทุน และการบริหารจัดการ และ ๓) การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและผู้เกี่ยวข้อง
“สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่แนวทางการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงอายุ การเสริมสร้างเครือข่าย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในการประสานความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ. .... " ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในอนาคต และนำไปสู่การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตในสังคมต่อไป" นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย