กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ขับเคลื่อนภารกิจหลักด้านการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร เปิดอบรมแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร หวังเสริมทักษะและองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ โลจิสติกส์และโซ่อุปทานการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาการฝึกอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานการเกษตร การบริหารจัดการเชิงธุรกิจ และการแปลงแผนในเรื่องดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้ง ยังสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2559 ต่อไป ให้แก่เจ้าหน้าที่จากกองแผนงานและที่เกี่ยวข้องกับด้าน โลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปัจจุบันภาคเกษตรซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของไทยยังเป็นภาคการผลิตที่ยังมีปัญหาในด้านการบริหารจัดการหรือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 14.5 ของผลิตภณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งนับว่าสูงกว่าหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ภาคเกษตรของไทยมีข้อมูลเบื้องต้นว่าอยู่ที่ร้อยละ 20-25 เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ทั้งในส่วนเกษตรกรเอง ซึ่งยังคงใช้วิธีการปฏิบัติในการจัดการผลิตแบบรูปแบบเดิม ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพในขั้นตอนต่างๆ ตลอดกระบวนการผลิต ทำให้เกิดต้นทุนผลิตที่สูงเกินความจำเป็น ไม่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการบริหารจัดการ โลจิสติกส์ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยลดการสูญเสียระหว่างการผลิต รวมทั้งลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าได้อีกด้วย
สศก. ในฐานะหน่วยงานกลาง จึงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรดังกล่าว ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งในส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่กองแผนงานและที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ ซึ่งคาดว่า นอกจากองค์ความรู้ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สามารถเป็น Smart Officer มีทักษะและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ นำไปสู่แผนการพัฒนาตามบทบาทหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถกำหนดแนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรต่อไป เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย