กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--NBTC Rights
บัลลังก์ 908 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทนายความบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือ ช่อง 3 โจทก์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนฟ้องคดีจำเลย ที่ 1 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท จากการให้สัมภาษณ์สื่อ และรีทวีตข้อความของผู้ใช้ชื่อว่า “แคน สาริกา” ที่โจทก์อ้างว่า เป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และ 15 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันนี้ แต่คดีสามารถยุติได้เพราะศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำเลยที่ 1 ไม่ค้าน นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า บ.บางกอกฯ ไม่ควรฟ้องตั้งแต่แรก เพราะเรื่องที่กล่าวในคำฟ้อง ถือเป็นการทำหน้าที่ปกติของ กสทช. รวมทั้ง การใช้ทวิตเตอร์ก็เป็นการนำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพราะกรณีที่เกิดข้อโต้แย้งกันในเรื่องนโยบายสาธารณะ ก็ควรที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผลในที่สาธารณะ การฟ้องร้องคดีอาญาเช่นนี้ เหมือนเป็นการพยายามที่จะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคู่กรณี
“คิดว่าสิ่งที่ตัวเองพูดไปเป็นหลักวิชาการ และหลักข้อเท็จจริงว่า ต้องปฏิรูปสื่อจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาตในระบบการแข่งขัน ซึ่งเราอยากให้รายเดิมกับรายใหม่มาแข่งขันบนสนามเดียวกัน ซึ่งเป็นเจตจำนงของการออกกฎกติกา Must Carry และกติกาการออกคู่ขนาน ซึ่งสุดท้ายก็จบลงได้ด้วยข้อเสนอแนะของศาลปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้ก็ไม่ควรฟ้องร้องตั้งแต่แรก” นางสาวสุภิญญา กล่าว
นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติมถึง กรณีที่มีการนำพ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ยังมีปัญหาอยู่ ตั้งแต่ตัวบทและวิธีการใช้ แต่กลับนำมาเป็นเครื่องมือที่จะสกัดกั้นการแสดงความคิดเห็น ขนาดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองยังเสี่ยงที่จะถูกฟ้อง แล้วประชาชนทั่วไปจะมีอะไรมาเป็นเกราะป้องกัน เพราะฉะนั้น ฝากถึงบุคคลสาธารณะไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง บริษัท หรือผู้มีอำนาจ ควรที่จะยับยั้งชั่งใจในการใช้พ.ร.บ. คอมพ์ฯ ฟ้องร้อง เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอลที่ควรจะต้องให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างมีวุฒิภาวะมากกว่า เพราะหากมีการใช้วิธีการฟ้องร้องจากการรีทวีตแล้ว อาจก่อให้เกิดความประหลาดใจในสายตาต่างชาติแน่นอน ขอเสนอต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรให้มีกระบวนการแก้ พรบ.คอมพ์ ให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากกว่านี้ เช่นกัน...
นายนคร ชมพูชาติ ทนายความและที่ปรึกษานางสาวสุภิญญากล่าวว่า การทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำหรือความคิดเห็นที่อาจไม่ถูกต้อง หากมีความคิดเห็นต่าง ก็ควรเปิดใจฟังและทำความเข้าใจต่อสาธารณชน เพื่อแสวงหาข้อสรุปที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายโดยยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่บางครั้งก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น การฟ้องร้องจึงเกิดขึ้นได้ จึงต้องทำหน้าที่ของตนเองไปในการยืนหยัดความถูกต้องต่อศาลในทุกคดีที่เกิดขึ้นกับนางสาวสุภิญญา