กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--โตเกียวมารีนประกันภัย
บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยรายได้เบี้ยประกันภัยรับตรงช่วง 10 เดือน ที่ผ่านมาของปี 2557 อยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท ลดลง 8.9% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีนี้คาดว่าจะมีรายรับเบี้ยประกันภัยรับตรงอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท พร้อมเปิดเผยแผนการดำเนินธุรกิจ 3 ปี ต่อจากนี้ ชูกลยุทธ์ “แม่โขง” การขยายพื้นที่และช่องทาง เพื่อการเป็นที่ 1 ในส่วนของธุรกิจ Dealer and Finance และเพื่อเป้าหมายสูงสุดในการเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทประกันวินาศภัยที่น่าเชื่อถือที่สุดในประเทศไทย
นายชินคิจิ มิกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
ทิศทางการดำเนินธุรกิจใน 3 ปี ต่อจากนี้ (ปี พ.ศ.2558 – พ.ศ.2560) ยังคงตอบรับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจด้วยการเป็นบริษัทที่ดี (Good Company) โดยมีเป้าหมายการเติบโตมากกว่าตลาดรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย ด้วยจุดมุ่งหมายการเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทประกันวินาศภัยที่น่าเชื่อถือที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทฯ มีการขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มประชาคมอาเซียน (AEC) โดยได้มีการจัดเตรียมแผนรองรับการขยายธุรกิจสู่กลุ่มประเทศที่อยู่ตามแนวลุ่มแม่น้ำโขง (MEKONG) ด้วยการจัดตั้งทีมงานพิเศษเพื่อรวบรวมข้อมูลของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศพม่า, กัมพูชา และลาว ศึกษาถึงกฎข้อบังคับในการทำธุรกิจ, ทิศทางการพัฒนาธุรกิจ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจแก่ลูกค้า รวมถึงการให้บริการรับประกันวินาศภัยเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจแก่ลูกค้าในประเทศไทยที่มีแผนจะขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ดังกล่าว โดยเรามีเครือข่ายอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารงานของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่สนใจลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราในการรองรับความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกการดำเนินธุรกิจของลูกค้า โดยลูกค้ามั่นใจได้จากการที่โตเกียวมารีนประกันภัย เป็นที่ 1 ทางด้านการประกันการขนส่งทางทะเลในประเทศไทย และบริษัทแม่ยังเป็นที่ 1 ของโลก ทางด้านการประกันการขนส่งทางทะเล ส่งผลให้เรามีความพร้อมในทุกกระบวนการทำงานเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 เราได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อของกลุ่มอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับ A- (Stable) จากสถานบัน S&P ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทำให้เราได้รับการยอมรับเรื่องความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน, การบริการจัดการที่ดี รวมถึงได้รับการสนับสนุนที่ดีจากบริษัทแม่ เพื่อการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานในระดับสากลอีกด้วย ซึ่งการจัดลำดับดังกล่าวสร้างความเชื่อถือให้กับกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย โดยการที่โตเกียวมารีนประกันภัย ได้รับการจัดลำดับจาก S&P ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าจากสิ่งนี้จะทำให้บริษัทฯ ได้มาซึ่งการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและโครงการต่างๆ จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากในการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางสถาบันการเงิน (แบงค์แอสชัวรันซ์) เราจึงมีการจัดตั้งหน่วยงานในการทำงานร่วมกับช่องทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะผลักดันให้บริษัทฯ ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
นายโยชิคิ นากามูระ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ผลการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ปี 2557 มีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีรายได้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงอยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท (หกพันสี่ร้อยล้านบาท) ลดลง 8.9% เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับปีก่อน แบ่งออกเป็นประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) ลดลง 25.4% ประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล (Marine Insurance) ลดลง 9.0% ประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance) ลดลง 20.5% และสุดท้ายกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance) มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 8.3% โดยในปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีรายรับเบี้ยประกันภัยรับตรงอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท
นายโยชิคิ นากามูระ กล่าวเพิ่มเติมว่า โตเกียวมารีนประกันภัยมีแผนการดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 5 องค์ประกอบหลัก คือ 1.การสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ 2.การพัฒนาช่องทางตัวแทนและโบรคเกอร์ 3.การขยายแผนการประกันภัยในส่วนของ Employees Benefit 4.การสร้างโอกาสของช่องทางการตลาดดิจิทัล 5.การเข้าไปทำธุรกิจประกันภัยผ่านกลุ่มสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการให้บริการในระดับ First Class (ชั้นหนึ่ง) โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับตรงเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2557
นายไพชยนต์ สุธีรพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ (ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและสถาบันการเงิน และฝ่ายการตลาดกิจการสาขา) กล่าวว่า ในปี 2558 โตเกียวมารีนประกันภัยใช้กลยุทธ์ Growth Strategy ในการดำเนินธุรกิจสร้างการเติบโตของธุรกิจด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายธุรกิจไปสู่พื้นที่ใหม่ ด้วยการขยายสาขาเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่ลูกค้าและคู่ค้า โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รองรับการให้บริการทั้งการให้คำปรึกษาและนำเสนอประกันวินาศภัย, บริการต่ออายุประกันวินาศภัย และการให้บริการสินไหมทดแทน เพื่อการบริการที่ครอบคลุมทั้งในจังหวัดที่ตั้งของสาขาเองและจังหวัดข้างเคียงรอบรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ซึ่งในปีนี้เราเปิดให้บริการเพิ่มแล้ว 4 สาขา คือ สาขาสุรินทร์, ฉะเชิงเทรา, เพชรบุรี และสกลนคร รวมทั้งสิ้น 24 สาขา โดยเรามองว่าการขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและคู่ค้าทั้งรายเดิมที่เป็นพันธมิตรกันอยู่และมุ่งไปสู่คู่ค้ารายใหม่ในอนาคตอีกด้วย โดยในระหว่างแผนธุรกิจ 3 ปี บริษัทฯ ยังคงเปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นโยบายการดำเนินธุรกิจของโตเกียวมารีนประกันภัยจะไม่มุ่งเน้นแข่งขันทางด้านราคา แต่เราจะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่า (Value) ของสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้าและคู่ค้า โดยการใช้แนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบ Win Win เพื่อให้การทำธุรกิจของเราได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่น การส่งมอบงานซ่อมรถของลูกค้ากลับไปที่ศูนย์ซ่อมสีมาตรฐานของดีลเลอร์ผู้จำหน่ายรถแบรนด์นั้นๆ รวมถึงการส่งข้อมูลรายงานการเกิดเหตุของลูกค้า เพื่อให้ดีลเลอร์สามารถเข้ามาดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและนำเสนอบริการการซ่อมที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันลูกค้าก็ได้รับการซ่อมที่ดีมีคุณภาพรวมถึงอะไหล่แท้จากดีลเลอร์ สร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าเมื่อได้รับการดูแลงานซ่อมจากศูนย์ซ่อมคุณภาพจาก Dealer ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถ เมื่อถึงเวลาขายรถยนต์ต่อก็มีโอกาสได้รับราคาขายต่อที่ดีจากการดูแลรถยนต์ที่มีคุณภาพและน่าเชี่อถือ จากกระบวนการดังกล่าวส่งผลถึงความมั่นใจในคุณภาพและบริการของรถยนต์แบรนด์นั้นๆ ซึ่งมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์คันต่อไปของลูกค้า จากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยส่งผลให้อัตราการต่ออายุของลูกค้ารถยนต์ป้ายแดงปีแรกมียอดเพิ่มมากกว่า 35% และลูกค้าเก่าที่เคยต่ออายุไปแล้ว (Renew) จะมีอัตราการต่ออายุกับบริษัทมากกว่า 75% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทำให้เราสามารถรักษาการเติบโตเอาไว้ได้
พร้อมกันนี้เรายังคงเดินหน้าสร้างความผูกพันกับ Dealer อย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจแบบคู่คิดด้วยการส่งมอบธุรกิจกลับไปสู่คู่ค้า (Return Business) นอกจากนั้นแล้วบริษัทฯ ยังเข้าไปช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงาน รวมถึงการรับประกันให้กับ Dealer เพื่อรับภาระความเสี่ยงอีกด้วย จากกระบวนการที่กล่าวมาเชื่อว่าเราจะเข้าไปอยู่ในใจของ Dealer ได้ ด้วยเป้าหมายการเป็นที่ 1 ในส่วนของธุรกิจ Dealer and Finance (ตัวแทนและสถานบันการเงิน) ในอนาคตอีกด้วย