กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--คอร์แอนด์พีค
สมศ. แจงผลมติการประชุมร่วมกับต้นสังกัด ๓ ระดับ ระดับพื้นฐาน-อาชีวะ เห็นชอบ ตัวบ่งชี้รอบสี่มีความเหมาะสม สะท้อนผลคุณภาพ เผยยึดแนวทาง ๔ มาตรฐานกฎกระทรวง ภายใต้ ๒๐ ตัวบ่งชี้ มุ่งวัดคุณภาพ ๗ ด้าน โดยปรับบางตัวให้สอดคล้อง เหมาะสมมากขึ้น อาชีวะหลักสูตร ป.ตรี ประเมินแบบวิจัย ไม่ตัดสินผล สถาบันเฉพาะทางประเมินใช้แนวทางเดิมของรอบสาม ส่วนอุดมศึกษานัดหารือเพื่อหาข้อสรุปในรายละเอียดอีกรอบในวันที่ ๑๐ ธ.ค. ๕๗ เพื่อหาแนวทางประเมินที่สอดคล้องกับแต่ละสถาบัน จากนั้นนำเสนอ “รองนายกฯ” พิจารณา คาดปี ๒๕๕๙ จัดประเมินฯ รอบสี่ ได้ตามเวลา
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ เปิดเผยว่า สมศ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการและทีมบริหารของ สมศ. เพื่อหารือร่วมจัดทำระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัด ผู้รับการประเมิน ได้แก่ ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปเห็นพ้องต้องกันว่าจำนวนตัวบ่งชี้มีความเหมาะสม สามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้โดยมีการปรับรายละเอียดในบางตัวบ่งชี้ โดยยึดหลัก ๔ มาตรฐานตามกฎกระทรวงฯ ได้แก่ มาตรฐานด้านผลการจัดการศึกษา มาตรฐานด้านการบริหารจัดการศึกษา มาตรฐานด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และมาตรฐานด้านการประกันคุณภาพภายใน ด้วยจำนวนตัวบ่งชี้ ๒๐ ตัวบ่งชี้ แบ่งเป็น ๗ ด้าน ได้แก่ (๑) ด้านคุณภาพศิษย์ (๒) ด้านคุณภาพครู/อาจารย์ (๓) ด้านการบริหารและธรรมาภิบาลของสถานศึกษา (๔) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน/สังคม (๕) ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม (๖) ด้านอัตลักษณ์/เอกลักษณ์ (๗) ด้านมาตรการส่งเสริม
“สมศ. จะสามารถทำการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ได้ตามเวลาที่กำหนด โดยจะเริ่มปีแรกในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ซึ่งตัวบ่งชี้ฯ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะยังมีปรับอีกเล็กน้อยในบางจุด เพื่อสะท้อนคุณภาพให้ชัดเจน เหมาะสม และเมื่อปรับแก้ไขแล้วจะนำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เพื่อพิจารณาต่อไป”
ในกรณีตัวบ่งชี้การประเมินฯ รอบสี่ด้านการอาชีวศึกษาชี้ที่ประกาศเบื้องต้น จะเป็นตัวบ่งชี้สำหรับการประเมินระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ในกรณีสถาบันการอาชีวศึกษาที่เพิ่งดำเนินการหลักสูตรปริญญาตรี จะเป็นการประเมินเพื่อการวิจัยโดยไม่มีการตัดสินผล เพื่อให้ข้อเสนอแนะและนำผลประเมินไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป และสำหรับสถาบันการศึกษาเฉพาะทางหรือสถาบันที่มีธรรมชาติเฉพาะทางคงใช้หลักการเดียวกับที่ดำเนินการในรอบ ๓ แต่จะมีการพิจารณาการเทียบเคียงบางตัวบ่งชี้ โดยให้เร่งดำเนินการทันทีหลังจากประกาศตัวบ่งชี้สำหรับสถานศึกษาปกติแล้ว
ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อถึงผลการหารือร่วมกับผู้แทนกลุ่มผู้รับการประเมิน ผู้แทนจากต้นสังกัด ในระดับอุดมศึกษาว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้ สมศ. จัดการประเมินตามกลุ่มประเภทของมหาวิทยาลัย ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับ/มหาวิทยาลัยของรัฐ, กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน, กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยผู้แทนแต่ละกลุ่มจะนำกลับไปหารือและแจ้งให้ สมศ.ทราบ ภายใน วันที่ ๑๐ ธ.ค. ๒๕๕๗ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นชอบให้คงแนวทาง ๔ มาตรฐานตามกฎกระทรวง และประเมินคุณภาพทั้ง ๗ ด้านตามเกณฑ์การพิจารณาตามตัวบ่งชี้ของ สมศ. และ ๒๐ ตัวบ่งชี้ที่กำหนดขึ้น โดยผู้แทนสถาบันจะนำกลับไปพิจารณาในบางรายตัวบ่งชี้ให้เหมาะสมกับแต่ละสถาบันโดยบางแห่งอาจจะเน้นด้านการเรียนการสอน หรือด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้น สำหรับมหาวิทยาลัยในกำกับ/มหาวิทยาลัยของรัฐ/มหาวิทยาลัยเอกชน ได้มีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนาตัวบ่งชี้โดยจะกลับไปหารือกับกลุ่มและนำมาแจ้งให้ สมศ. พิจารณาภายใน ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ เช่นกัน