กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีที่เกาะช้าง สุดทางบูรพา” เป็นคำขวัญประจำจังหวัดตราดที่บ่งบอกชัดเจนถึงความหลากหลายทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ของกิน วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และภูมิประเทศ และในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานับจากรัฐบาลประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมถึงความชัดเจนของตำแหน่งทางการตลาด ที่ต้องการจะสื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้เห็น
เกาะช้างและหมู่เกาะอื่นๆ ในเมืองตราดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยนับจากอดีตสู่ปัจจุบัน ด้วยความสวยงามของแต่ละเกาะมีความหลากหลายและโดดเด่นต่างกัน หมู่เกาะช้างมีเกาะน้อยใหญ่ นับรวมกันได้ประมาณ 62 เกาะ โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ในปี 2546 รัฐบาลประกาศให้เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นพื้นที่พิเศษ บริหารโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยมีเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นโลว์คาร์บอน เดสติเนชั่น ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาขีดความสามารถให้กับชาวบ้าน ชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อย การปรับภูมิทัศน์ เลือกใช้พลังงานทางเลือก และ ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ปัจจุบัน การทำงานของ อพท. ในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 11
ดังนั้น แผนงานและกิจกรรม ที่ อพท. พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ได้ดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ ที่วางไว้ คือ การพัฒนาให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชน ในด้านการบริหารจัดการ การปรับภูมิทัศน์ รวมไปถึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
***รัชกาลที่ 5เสด็จประพาสฯ เมืองตราด 12 ครั้ง***
ความสำคัญของจังหวัดตรา และหมู่เกาะช้าง สืบค้นจากบันทึกประวัติศาสตร์ ถึงการเสด็จประพาสฯ หัวเมือง ในรัชกาลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทั้งหมด 24 ครั้ง พระองค์ ทรงเสด็จมาเยี่ยมพสกนิกรชาวเมืองตราดถึง 12 ครั้ง
มีตำนานเล่าว่า การเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มายังเกาะช้างถึง 12 ครั้ง ด้วยเห็นเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา จึงเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ และอีกประการหนึ่งคือชื่นชอบในภูมิประเทศ โดยบางครั้งยังเสด็จพร้อมกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระอัครมเหสีพระองค์แรก และที่รักยิ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดสลักเพชรมีโบสถ์ที่สวยงาม รอบโบสถ์มีรูปปั้นของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ทางวัดให้ความสำคัญต่อการสื่อสารต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบเห็นป้ายภาษาอังกฤษติดหลายจุดบริเวณโดยรอบโบสถ์และวัด ภายในโบสถ์มีภาพจิตกรรมฝาผนัง เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งวัดสลักเพชรแห่งนี้ถือ เป็นวัดเก่าแก่ของเกาะช้าง และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเคยทรงตั้งพลับพลาที่บริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ภายในวัดมีศาลาริมน้ำเหมาะสำหรับพักผ่อน นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้
วัดสลักเพชร มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่มเล็กๆ 1-2 คน มีทั้งที่มากับบริษัททัวร์ซึ่งเดินทางมากับรถตู้ หรือขับรถมอเตอร์ไซต์มากันเอง ส่วนใหญ่ให้ความสนใจเข้าไปดูภาพเขียน ไหว้พระบนโบสถ์ ซึ่งทางขึ้นบริเวณโบสถ์มีป้ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษชี้แจงให้ชำระค่าดูแลสถานที่ เก็บค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนละ 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่เสีย หรือตามกำลังศรัทธา และบริเวณจุดรับบริจาคและทำบุญมีบริการผ้านุ่งให้นักท่องเที่ยวที่แต่งกายไม่เรียบร้อยได้สวมใส่ก่อนเข้าบริเวณโบสถ์ แม้จะเป็นความเคร่งครัดแต่ไม่ได้สร้างความลำบากใจหรือไม่พอใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีความเข้าใจเป็นอย่างดี และให้ความร่วมมืออย่างดีมาก
ใกล้กับโบสถ์หลังใหม่นี้ จะเป็นที่ตั้งของโบสถ์ หลังเก่าอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันถูกบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสิ่งสำคัญเกี่ยวกับประวัติของชุมชนสลักเพชร โดยเฉพาะหลักฐานทีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นมาที่สลักเพชร ที่ผ่านมาโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อเข้ามาเที่ยวชายหาด น้ำตก ไปรับประทานอาหารทะเลที่ร้านอาหาร หรือพายเรือที่สลักคอกและมักมาเที่ยวที่วัดสลักเพชร พิพิธภัณฑ์นี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชุมชนสลักเพชรที่ต้องการสื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้
พิพิธภัณฑ์วัดสลักเพชรนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดย สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นทีเชื่อมโยง (อพท.1) เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงวัฒนธรรมในเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง
ชุมชนโดยรอบวัด เรียกว่าบ้านสลักเพชร เป็นชุมชนแห่งแรกๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี ช่วงก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก่อน พ.ศ. 2411) ซึ่งบริเวณบ้าน บางเบ้า สลักเพชร สลักคอก ด่านเก่า และด่านใหม่(คลองนนทรี) มีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน โดยราษฎรกลุ่มแรกเป็นชาวจีนและชาวญวน ตระกูล แซ่ตั้ง แซ่ตั้น แซ่เตียว แซ่ภู่ และแซ่ลี้
น้ำตกธารมะยม
เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่6 เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกแห่งนี้ และยังได้สลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ วปร. อยู่ที่หน้าผาน้ำตกชั้นบน
“ธารมะยม” เป็นลักษณะน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผาสูงชัน ไหลผ่านร่องหินแกรนิตสีดำ น้ำตกชั้นที่ 1 และ 2 มีแอ่งน้ำให้ลงเล่นได้ หากเดินขึ้นไปประมาณ 400 เมตร ก็จะพบกับน้ำตกชั้นที่ 3 มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้ น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือน้ำตกชั้นที่ 4 แต่ต้องปีนขึ้นไปตามผาหินค่อนข้างลำบาก ในส่วนของเส้นทางที่จะเดินไปให้เห็นพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ วปร. จะต้องขออนุญาติจากกรมอุทยานแห่งชาติเสียก่อน น้ำตกธารมะยม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08:00 – 16:00 น.
หมู่บ้านประมงบางเบ้า
อ่าวบางเบ้า อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะช้าง ชื่อว่าหมู่บ้านประมงบางเบ้า เป็นหมู่บ้านประมงที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงมีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายด้วยการทำประมงขนาดเล็กตามชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งของปลาหมึกหอม บริเวณหมู่บ้านมีท่าเรือและสะพานปลา ชาวบ้านที่นี่ทำกะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม รสชาติขึ้นชื่อ มีจุดเด่นคือบ้านแต่ละหลังปักเสายื่นลงในทะเล มีสะพานเชื่อมติดต่อถึงกันโดยตลอด หมู่บ้านบางเบ้าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาเที่ยวชม และยังเป็นศูนย์รวมร้านอาหารทะเล ของฝาก ของที่ระลึก และจุดบริการให้นักท่องเที่ยวมาซื้อทริปดำน้ำแบบไปเช้าเย็นกลับ และบริการเช่าเหมาเรือโดยสารไปชมความงามตามหมู่เกาะต่างๆ เช่น เกาะกูด เกาะหมาก เกาะหวาย เป็นระยะทางไม่ไกลนัก
ประภาคารบางเบ้า
สุดทางของสะพานท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าจะเห็นประภาคารตั้งโดดเด่น เป็นอาคารสีขาวตัดกับสีท้องฟ้า และสีน้ำทะเล มีความสวยงามและน่าสนใจ เป็นแลนด์มาร์คอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาถ่ายรูปโดยมีวิวด้านหลังประภาคารเป็นช่องเขาขาด รอบๆ ประภาคารยังเป็นจุดชมวิวท้องทะเลที่สวยงามกว้างสุดสายตา
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การสร้างประภาคารแห่งนี้ขึ้นเพื่อต้องการให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ค สำหรับนักท่องเที่ยว ได้เที่ยวชมภูมิทัศน์ยามเย็นของชุมชนบางเบ้า ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มวันพักของนักท่องเที่ยวได้ เพราะเมื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน ก็ต้องรับประทานอาหารและพักค้าง ณ ที่แห่งนี้อีกหนึ่งคืน ช่วนสร้างรายได้ให้ชุมชนได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกิจกรรม
ท่าเทียบเรือบางเบ้า
อพท. ได้ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือบางเบ้างบประมาณ 9 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากของเดิมเก่าและชำรุด โดยการก่อสร้างครั้งนี้ได้เพิ่มความยาวของตัวสะพานไปอีก 250 เมตร จากเดิมที่มีความยาว 400 เมตร ปลายท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าอยู่บริเวณร่องน้ำลึก 4.70 เมตร เรือท่องเที่ยวและเรือประมงสามารถเข้าจอดได้ตลอดเวลา แล้วเสร็จเมื่องตุลาคม 2556
ปัจจุบันสะพานท่าเทียบเรือบางเบ้ามีผู้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ได้แก่ เรือนำเที่ยวและเรือเช่าเหมากว่า 50 ลำ มีร้านค้ากว่า 100 ร้าน และมีนักท่องเที่ยวใช้บริการในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เกินกว่า1,000 คน สำหรับเงินหมุนเวียนจากข้อมูลของธนาคารที่มาเปิดให้บริการ คือ มีเงินฝากประมาณ 2 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านบางเบ้าร่วมกันวางแผนเพื่อออกกฎระเบียบในการดูแลรักษาสะพานแห่งนี้ เพราะถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้ ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยวที่มาขึ้นเรือ มารับประทานอาหาร และมาชมทิวทัศน์ที่สวยงามยามเย็น ซึ่งชุมชนบางเบ้าเตรียมที่จะร่วมมือกันนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับไฟส่องสว่างบนสะพานเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน
บ้านน้ำเชี่ยว
“บ้านน้ำเชี่ยว” ชุมชน สองศาสนา ไทยพุทธ และไทยมุสลิมมีสัดส่วนการนับถือศาสนาใกล้เคียงกันประมาณครึ่ง-ครึ่ง(50-50) โดยชาวมุสลิมที่นี่ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัย ร. 3ซึ่งแม้เกาะช้าง จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะแก่งมากมาย แต่บนฝั่งหรือบนพื้นดิน ก็มีแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิตที่น่าสนใจอยู่อีกไม่น้อย “ชุมชนประมงบ้านน้ำเชี่ยว” เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีความน่าสนใจในระดับต้นๆของเมืองไทย เพราะทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมต่างก็อยู่อาศัยกันอย่างพึ่งพาเกื้อหนุนจุนเจือนับเป็นชุมชนตัวอย่างที่ที่ใครเมื่อเห็นแล้วต่างชื่นชม
แม้ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จะโดดเด่นเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน แต่ยังขาดสิ่งสำคัญไปหนึ่งสิ่ง คือ “การบริหารจัดการ” ดังนั้น เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ลงพื้นที่ แล้วพบจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา จึงหารือกับชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงจุดอ่อนข้อนี้ จึงได้เกิดการพัฒนาให้ความรู้ด้านการจัดการแก่ชุมชน ความรู้ที่ อพท. มอบให้ตามความต้องการของชุมชน จึงเติมเต็มให้กับชุมชนแห่งนี้
“อพท. เข้ามาดำเนินการในปี 2555 โดยมาสนับสนุนช่วยเป็นพี่เลี้ยง แนะนำในหลายๆด้าน อาทิ การบริหารจัดการ รู้จักการทำตลาดเชิงรุก รู้จักประชาสัมพันธ์ รู้จักวิธีวางแผนรองรับนักท่องเที่ยว การช่วยฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม โดยเฉพาะการให้องค์ความรู้ในการทำ “ดาสต้าบอล”เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี”
ปัจจุบันชาวบ้านบ้านน้ำเชี่ยวยังคงประกอบอาชีพประมง ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ วันไหนในในช่วงน้ำลงบริเวณปากอ่าวจะได้เห็นชาวบ้านออกไปเก็บหอยแครง หอยปากเป็ด จับกุ้งปูปลา ในขณะที่วิถีชาวบ้านนั้นก็อยู่กันอย่างเรียบง่าย ส่วนกิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยวนั้นถือเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาชีพของกลุ่มแม่บ้าน
นางสุรัตนา ภูมิมาโนช ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เปิดเผยว่า ทุกวันนี้เด็กๆที่บ้านน้ำเชี่ยว ไม่ได้ติดเกมคอมพิวเตอร์เหมือนเด็กๆอีกจำนวนมาก แต่ความรู้ที่ได้จาก อพท. ทำให้พวกเด็กมีรายได้เพิ่ม จากการให้บริการเป็นมัคคุเทศก์น้อยนำเที่ยวหมู่บ้าน การแสดงร่ายรำประกอบดนตรี มอบความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว เด็กๆที่นี่จึงกล้าคิดกล้าแสดงออก พูดจาคล่องแคล่วฉะฉาน
และด้วยบ้านน้ำเชี่ยวเป็นหมู่บ้านริมทะเลใกล้ปากอ่าวที่นี่จึงมีป่าชายเลนผืนใหญ่เป็นปอดธรรมชาติ แหล่งอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ภายใต้ชื่อ“ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” ที่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาตินำชมสิ่งน่าสนใจต่างๆ อาทิ ระบบนิเวศป่าชายเลน ปลาตีน ปู ลิง และนก ที่มีการสร้าง“หอดูนก” สูง 4 ชั้นไว้ให้เดินขึ้นไปเฝ้าดูนกกว่า 30 ชนิด และชมวิวทิวทัศน์ของผืนป่าชายเลนในมุมสูงรอบทิศทาง