กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--Noname IMC
6 ปี กับการพัฒนาการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เพื่อผู้ป่วยและสังคมไทยสปสช.-สธ.ผนึกองค์กรภาคี ย้ำแนวคิด“วันวานมุ่งมั่น วันนี้มั่นคง พรุ่งนี้ยั่งยืน”
นับเป็นความพยายามของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคีกับความมุ่งมั่นพัฒนาการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เพื่อผู้ป่วยโรคไตและสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สปสช. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยจัดการประชุมระดับชาติเรื่อง “การบริการบำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง:เพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย” ภายใต้แนวคิด “วันวานมุ่งมั่น วันนี้มั่นคงพรุ่งนี้ยั่งยืน” ขึ้น เพื่อสรุปบทเรียนและติดตามความก้าวหน้าของไทยและสากลแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการบริหารจัดการ การเพิ่มคุณภาพบริการและการสร้างนวัตกรรมการบริการ รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานและมอบรางวัลนวัตกรรมการล้างไตทางช่องท้องดีเด่นซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 66 ผลงานจาก 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่มเมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดลที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่าง การเป็นประธานเปิดการประชุมดังกล่าวว่า นโยบายการให้สิทธิประโยชน์การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) แก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นหนึ่งในรูปธรรมของการปฏิรูประบบสุขภาพที่ชัดเจนมีการดำเนินงานและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ จนมีความมั่นใจที่จะเดินหน้าต่อไป เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์ มีเครือข่ายบริการและกลไกการบริหารจัดการที่มั่นคงสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศจนเกินพอดี
“การล้างไตทางช่องท้อง (PD) จะช่วยลดความยากจนให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ ไม่ล้มละลายจากการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังสามารถทำงานได้ ค่าใช้จ่าย น้อยกว่าถ้าเทียบกับการฟอกเลือด และผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่าย จากประสบการณ์น้ำท่วมในปี 2554 จะเห็นว่า ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง (PD) สามารถล้างไตที่ไหนก็ได้ ที่น้ำไม่ท่วม ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลเหมือนการฟอกเลือด ฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดความยั่งยืน ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ป่วย ให้มาลงทะเบียนรักษา ตอนนี้สิทธิการรักษาเราเปิดกว้างสำหรับผู้ป่วยโรคไต แต่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อขยายการบริการสู่ผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงเดือนมิถุนายน 2557 มีผู้ป่วยโรคไตขึ้นทะเบียนสะสมแล้ว 31,888 คน จำนวนผู้ป่วยมีชีวิตสะสม 17,281 คน จำนวนหน่วยบริการ CAPD เพิ่มขึ้นจาก 23 แห่ง ในปี 2550 เป็น 175 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและฝึกอบรม 4 เครือข่าย จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ผ่านการอบรมการผ่าตัดวางสายล้างไตทางช่องท้อง เพิ่มขึ้น 266 คน จำนวนพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 4 เดือน จำนวน 13 รุ่น รวม 466 คน และเริ่มมีการอบรมให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ที่เป็นลูกข่ายรับส่งต่อผู้ป่วยในชุมชนร่วมกับ รพ.แม่ข่าย นอกจากนี้ยังมีชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จิตอาสาและมิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคไตอีกเป็นจำนวนมาก
“การล้างไตทางช่องท้อง (PD) ให้ผลการรักษาในทางการแพทย์ไม่แตกต่างกันกับการฟอกเลือด ให้ผลดีเหมือนกัน แต่ในแง่ของสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีกว่าเยอะ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล สามารถทำเองในสถานที่ที่สะอาดที่ไหนก็ได้ มีผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องแต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปฟอกเลือดแทน หลายรายที่ไม่อยากจะเปลี่ยนไปฟอกเลือด เพราะคุ้นเคยกับการล้างไตทางช่องท้องที่สะดวกกว่า ปัจจุบันจึงมีผู้ป่วยมาลงทะเบียนล้างไตทางช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าย้อนไปวันวาน เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่นโยบาย PD First Policy ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2551 เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เป็นอันดับแรก ต้องยอมรับว่าในอดีตการล้างไตทางช่องท้องไม่เป็นที่นิยมทั้งในแง่ของตัวผู้ป่วยและแม้แต่ในส่วนของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังไม่ยอมรับมากนัก เพราะคุ้นเคยกับการฟอกเลือดมากกว่า ยอมรับว่าเราล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น แต่ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรภาคี ก็มีเจตนารมณ์ร่วมกันมุ่งมั่นพัฒนาต่อเนื่อง เพราะถ้าเน้นเฉพาะการฟอกเลือดอย่างเดียว จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงรักษา เนื่องจากการฟอกเลือดมีข้อจำกัดเรื่องตัวเครื่องที่ใช้ฟอกเลือดมีไม่เพียงพอและขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน นอกจากนั้นการฟอกเลือดต้องไปโรงพยาบาล ทุก 2-3 วัน ต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยหลายรายถอดใจไม่ยอมเข้ารับการรักษา”นพ.ประทีป ธนกิจเจริญกล่าว
รศ.นพ.ทวีศิริวงศ์เลขาธิการเครือข่ายแพทย์โรคไตแห่งภาคอีสาน กล่าวว่า“ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะต้องไม่เสียชีวิตเพราะความยากจนอีกต่อไป เพราะนโยบาย PD First Policy ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไต เบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวน อยากให้ผู้ป่วยโรคไตมีความเชื่อมั่นและมีทัศนคติใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จ โดยหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จ ทุกคนต้องร่วมมือกัน บุคคลที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และสมาชิกในครอบครัว มีส่วนสำคัญช่วยให้ข้อมูลและกำลังใจแก่ผู้ป่วย ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัว และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เช่นคนปกติทั่วไป ดูแลชีวิตตัวเอง ด้วยตัวคุณเอง เพื่อคนของคุณเอง”
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล หน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การที่จะทำให้ผู้ป่วยเชื่อได้ว่า การล้างไตทางช่องท้อง (PD) เหมาะกับบริบทของคนไทยก็คือ ทำให้เขาได้เห็นว่าผู้ป่วยนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูง มีชีวิตที่ยืนยาวกว่า อัตราการติดเชื้อที่น้อยกว่า และที่สำคัญสามารถดูแลตัวเองได้ และสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพ และเลี้ยงครอบครัวได้ และที่สำคัญหน่วยบริการโรคไตได้ขยายเครือข่ายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย และยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคไตให้เข้าถึงการบริการได้รวดเร็วและมีคุณภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ.คอมมูนิเคชั่นแอนด์มอร์ จก.
คุณบุษบา (บุษ) / คุณชลียาพันธุ์ (กิ๊ฟฟู่) โทร. 02 718 3800-5 ต่อ 141 / 144