กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ ว่า ในอดีต เรามักให้ความสำคัญและวางบทบาทการเลี้ยงลูกไว้กับแม่ ในขณะที่พ่อถูกวางบทบาทให้เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำมาหากิน หาเงินมาเลี้ยงดู คนในครอบครัว ทำให้ความเป็นพ่อลูกมีระยะห่าง ลูกขาดความใกล้ชิดกับพ่อ แต่ในปัจจุบันรูปแบบของครอบครัวเปลี่ยนไป ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้าน บทบาทการเลี้ยงดูลูกจึงไม่ใช่เป็นบทบาทของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งพบว่า การพัฒนาด้านจริยธรรม ครอบครัวใดที่พ่อมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก จะทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมและยับยั้งชั่งใจตนเองได้ดีกว่าครอบครัวที่พ่อไม่มีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูลูก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เวลาแม้เพียงน้อยนิดของพ่อที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกตั้งแต่วัยเด็ก จะช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างสมวัยทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถผ่านพ้นและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย จนเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม มีสุขภาพจิตดีตลอดไปได้ เนื่องจาก ลูกอายุ 1-3 ขวบ ถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญในด้านความรัก ความอบอุ่น ขณะที่ช่วง 3-5 ขวบ เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ พ่อจึงเป็นแบบอย่างสำหรับลูกในการพัฒนาเติบโตสู่ช่วงวัยรุ่น การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อ ที่เป็นได้ทั้งพ่อและเพื่อนให้กับลูก ย่อมทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจ เมื่อมีปัญหาก็จะมาปรึกษา ความรัก ความผูกพันในครอบครัวจึงเป็นรากฐานสำคัญของความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและความรู้สึกมีคุณค่าในเด็ก ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า พ่อ คือ ต้นแบบในการแสดงความเป็นเพศชายในลูกชาย และเป็นต้นแบบให้ลูกสาวเรียนรู้จากพ่อในการปรับตัวเข้ากับเพศตรงข้ามได้ดี
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ความรักความผูกพันที่ดีของพ่อจะส่งผลต่อลูกสาวและลูกชาย โดยจะส่งผลให้ลูกสาวมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาสูง รู้สึกดีต่อตนเอง รู้จักยืนหยัดโดยไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว รู้สึกมั่นใจในความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเพศตรงข้าม มีความมั่นใจในตนเองและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ส่วนลูกชายจะส่งผลให้พวกเขา รู้จักบทบาทหน้าที่ที่พึงกระทำในครอบครัว มีภาวะผู้นำที่ดี สร้างวินัยและปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นในสังคมได้ดี มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีความเข้าใจในเรื่องเพศที่ดี วางตัวเหมาะสม มีความเป็นสุภาพบุรุษ มีความมั่นใจในตนเอง มีความกล้าหาญในการช่วยเหลือผู้อื่นและทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางการเป็นแบบอย่างของพ่อให้กับลูก ได้แก่ 1. มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก 2.สอนสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูก เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เช่น ทักษะการกีฬา ขี่จักรยาน ล้างรถ ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมของใช้ เป็นต้น 3.สอนการบ้านและใช้เวลาใกล้ชิดลูก สอนให้ลูกรู้จักการคิดแก้ปัญหาโจทย์ สร้างบรรยากาศในการทำการบ้านให้มีความสุข ฟังความทุกข์ใจของลูก ปรับบทบาทให้เป็นเพื่อนกับลูก ชื่นชมเมื่อลูกคิดหรือทำงานได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้กับลูก เมื่อเติบโตขึ้นจะทำเป็นคนมองโลกในแง่ดี รู้จักคิดแก้ปัญหาในชีวิตได้ดี 4.ให้เวลาสนุกสนานกับลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน แบ่งปันความสนุกสนานซึ่งกันและกัน หรือการทำกิจกรรมที่ท้าทายร่วมกัน เช่น การปีนต้นไม้ เดินป่า นอนเต็นท์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความกล้าในการแสดงออก กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเติบใหญ่ได้ดี และ 5.เป็นแบบอย่างของความกตัญญู พาลูกไปเยี่ยมและดูแลญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย เป็นประจำ และดูแลเมื่อยามเจ็บไข้ รวมถึงการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างของการรู้จักตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณคนอื่นๆ ซึ่งการทำตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นย่อมเป็นการสอนที่ดีกว่าการใช้คำพูด
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้สอบถามความคิดเห็นประชาชน อายุระหว่าง 8-79 ปี ในเขต กทม. และปริมณฑล จำนวน 400 ตัวอย่าง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค. 2557 เรื่อง “สิ่งที่พ่อกับลูก อยากจะบอกกัน” ทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 17-21 พ.ย.2557 พบว่า สิ่งที่ลูกอยากบอกกับพ่อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รักพ่อมากที่สุด ร้อยละ 67.50 รองลงมา คือ อยากบอกให้พ่อดูแลสุขภาพให้มากขึ้น ร้อยละ 9.25 และอยากบอกขอบคุณพ่อสำหรับทุกอย่างที่ทำเพื่อลูก ร้อยละ 3.75 เช่นเดียวกับสิ่งที่พ่ออยากบอกกับลูกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อยากบอกว่ารักลูก ร้อยละ 55.48 รองลงมา คือ อยากบอกลูกว่าขอให้ลูกเป็นคนดี ร้อยละ 21.94 และอยากบอกลูกว่า ลูก คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ ร้อยละ 7.74
สำหรับสิ่งที่ลูกอยากให้พ่อทำเพื่อลูกและครอบครัวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ต้องการให้พ่อดูแลสุขภาพของตนเอง ร้อยละ 19.00 รองลงมา คือ ให้พ่อรักและดูแลครอบครัว ร้อยละ 16.75 และเห็นว่าพ่อไม่ต้องทำเพื่อลูกหรือครอบครัวอีกแล้ว เพราะพ่อทำเพื่อครอบครัวมามากแล้ว ร้อยละ 13.75 ทั้งนี้ กลุ่มวัยเด็ก (6-12 ปี) และ กลุ่มวัยรุ่น (13-24 ปี) จะให้ความสำคัญกับการให้พ่อดูแลลูกและครอบครัว และการพาลูกไปเที่ยว รวมทั้ง เลิกดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ขณะที่กลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) ให้ความสำคัญกับการให้พ่อดูแลสุขภาพ และไม่อยากให้พ่อทำอะไรแล้ว อยากให้พ่อหยุดและพักผ่อนมากๆ เพราะพ่อทำเพื่อครอบครัวมามากแล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่ลูกอยากทำให้พ่อมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อยากดูแลและเลี้ยงดูพ่อตอบแทน ร้อยละ 36.25 รองลงมา คือ อยากทำให้พ่อมีความสุข ร้อยละ 12.75 และอยากเป็นคนดีเพื่อพ่อ ร้อยละ 11.25 ขณะที่พ่ออยากให้ลูกทำเพื่อพ่อและครอบครัวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ให้ลูกเป็นคนดี ร้อยละ 49.03 รองลงมา คือ ให้ลูกตั้งใจเรียน ร้อยละ 21 และให้ลูกดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด ร้อยละ 10.32
หากพ่อลูกผูกพันสร้างสัมพันธ์กันมากขึ้น มีการสื่อสาร พูดบอกความรู้สึกของตัวเองอย่างแท้จริงให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ย่อมสร้างความเข้าใจ ความรัก ความผูกพัน และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ลูกก็จะมีความสุข เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ พ่อเองก็จะมีความสุขด้วยเช่นกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว