กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กัลฟ์ เจพี
กัลฟ์ผนึกกำลังกลุ่มมิตซุยของญี่ปุ่น กลุ่มธนาคารทั้งในและต่างประเทศกว่า 8 แห่ง ประกาศเดินหน้าโรงไฟฟ้าเอสพีพี พร้อมจับมือมิตซุยพันธมิตรเซ็นทั้งสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศวงเงินกว่า 1,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (6 หมื่นล้านบาท) สัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้า สัญญาก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และสัญญาบำรุงรักษาเครื่องกังหันก๊าซ
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทกัลฟ์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ มีความพร้อมในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจอย่างบริษัท มิตซุย แอนด์ คอมปานี ลิมิเตด(Mitsui & Co., Ltd.) ในการสนับสนุนให้โครงการสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี การร่วมเป็นพันธมิตรกันในครั้งนี้จะสามารถขยายโอกาสการลงทุนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศผ่านทางเครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นของมิตซุย ซึ่งจะสามารถขยายเครือข่ายและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ตลอดจนได้ดึงธนาคารจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม โดยได้เซ็นสัญญาหลักพร้อมกันถึง 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งภายในและต่างประเทศ (Credit Facilities Agreement) สัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) โดยมีบริษัท Toyo Engineering Corporation และบริษัท TEC Project Services Corporation เป็นคู่สัญญา สัญญาก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Gas Pipeline EPC contract) โดยคู่สัญญาเป็นบริษัท China Petroleum Pipeline Bureau เพื่อสร้างท่อก๊าซย่อยจากโรงไฟฟ้าไปเชื่อมต่อกับท่อก๊าซหลักของปตท. สัญญาการให้บริการงานบำรุงรักษาเครื่องกังหันก๊าซ (Long Term Service Agreement) โดยมีคู่สัญญาเป็นบริษัท GE และ Siemens Limited ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีผู้ผลิตกังหันก๊าซ มีอายุสัญญา 20 ปี
“สำหรับสัญญาเงินกู้ วงเงินกู้รวม 1,800 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ(6 หมื่นล้านบาท) ระยะเวลา 22 ปี แบ่งเป็น เงินบาท ร้อยละ72 และเงินดอลล่าร์สหรัฐ ร้อยละ 28 โดยกู้จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด (MIZUHO CORPORATE BANK) แบงก์ออฟโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ(BTMU) และ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) โดยมีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนสินเชื่อ (Facility Agent)ฝั่งธนาคารในประเทศ และ BTMUเป็นตัวแทนสินเชื่อ (Facility Agent)ฝั่งต่างประเทศ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนหลักประกันในประเทศ (Security Agent)และ แบงก์ออฟโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ(บีทีเอ็มยู)เป็นตัวแทนหลักประกันต่างประเทศ(Security Agent)” นายสารัชถ์ กล่าว
นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า โครงการโรงไฟฟ้า SPP ของกลุ่มบริษัท กำลังการผลิตรวม 1,470 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดระยอง จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดอยุธยา จังหวัดสระบุรี และ จังหวัดนครราชสีมา แต่ละโรงไฟฟ้าจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือ รวมไปถึงการขายไอน้ำและน้ำเย็นจะขายให้กับโรงงานที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้านั้น ทางบริษัทเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพราะเป็นพลังงานสะอาด นอกจากนี้ เรายังเลือกเทคโนโลยีระบบโคเจนเนอเรชั่นโดยผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และจะสามารถช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
นายอัมเบะ ชินทาโร่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซุย แอนด์ คอมปานี ลิมิเตด เปิดเผยว่า “มิตซุยเคยร่วมงานกับกัลฟ์มาแล้วรวม 20 ปี ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ แต่ก็มีความตั้งใจที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า มิตซุยจะลงทุนในประเทศไทยไปอีก 100 ปี และสำหรับวันนี้เราทำสำเร็จแล้ว ได้มีโลโก้บริษัทมาอยู่เคียงข้างกันในฐานะผู้ร่วมทุน”
บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทการค้าทั่วไป รายใหญ่ที่สุดของโลก และมีเครือข่ายใน 69 ประเทศทั่วโลก ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น การค้าสินค้านานาชนิด การให้บริการและการอำนวยความสะดวกในทางการเงินในเชิงพาณิชย์แก่ลูกค้าและซัพพลายเออร์ทั่วโลก รวมทั้งดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบในโครงการขนาดใหญ่ โดยอาศัยเครือข่ายทางธุรกิจที่ครอบคลุมอยู่ทั่วโลก และกลุ่มบริษัทมิตซุยยังมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ วัตถุดิบประเภทเหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น
นางภิมลภา สันติโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว ภาครัฐและเอกชนจึงมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วยการจัดหาแหล่งพลังงานที่เพียงพอและเชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงได้ริเริ่มโครงการเอสพีพีขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อชักจูงความสนใจให้เอกชนเข้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องด้วยขนาดกำลังการผลิตและทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเอสพีพีจึงเป็นทางเลือกการใช้พลังงานไฟฟ้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้มากขึ้น ลดอัตราการสูญเสียของระบบส่งไฟฟ้า และมีต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งภาพรวมทำให้นิคมอุตสาหกรรมมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้ สำหรับสัญญาเงินกู้ของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ถือว่าเป็นโครงการเงินกู้โรงไฟฟ้าเอสพีพีแบบ Portfolio Financing ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบันในแง่ทั้งกำลังการผลิตและมูลค่าเงินกู้รวม ดังนั้น จึงไม่น่าไม่แปลกใจหากโครงการดังกล่าวนี้จะได้รับรางวัลเป็นดีลยอดเยี่ยมแห่งปี”