กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี 2557 ผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย การพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่ Green technology การส่งเสริมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจังหวัด และงานบริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการดำเนินงานด้านวิจัย บริการ และถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยนำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ.2557 นั้น มีผลงานเด่นสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้
การพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่ Green technology โดยนำแนวคิด O-Z-O-N-E ผ่านการทำงานแบบบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายสาขาของนักวิจัยดำเนินการจริงตามความต้องการเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานด้วยนวัตกรรม วว. จะได้การรับรองด้วยตราสินค้า วว. ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ภายใต้ตรา O-Z-O-N-E จำนวน 20 ราย ซึ่งช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายธุรกิจ และพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ
การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาจังหวัด ในปี 2557 วว. ได้ขยายการดำเนินงานจากเดิมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยัง 2 ภูมิภาคคือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดแพร่ นำเทคโนโลยีนวัตกรรมผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เป็นสินค้าระดับสินค้าพรีเมียม (premium) ของจังหวัด ส่วนภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ได้นำเทคโนโลยีการแปรรูปผลไม้เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีผู้ประกอบการที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพิ่มมูลค่าธุรกิจแทนการลดต้นทุน จำนวน 33 ราย และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้จังหวัดเพิ่มขึ้นจากการวัดรายได้ประมาณ 4,130,400 บาทต่อปี
งานบริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ วว. ให้บริการทดสอบและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมด้านการประเมินชิ้นส่วนระบบรางและชิ้นส่วนรถไฟ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย มาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน AREA (American Railway Engineering Association) ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประเมินสมรรถนะและอายุการใช้งานข้อต่อขยายตัวสะพานต้านทานแผ่นดินไหวตามมาตรฐานสากล ซึ่ง วว. ได้เริ่มให้บริการทดสอบระบบรางกับผู้ประกอบการก่อสร้างระบบรางชั้นนำของประเทศ เพื่อนำวัสดุที่ผ่านการทดสอบไปใช้ในการก่อสร้างระบบรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย
งานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 130,842 รายการ
ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกลุ่มประเทศในระดับอาเซียน จำนวน 33 โครงการ
ยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร จำนวน 38 เรื่อง
ถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยสู่สังคม มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 3,610 คน
ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 12 โครงการ
ผลงานตีพิมพ์ภายในประเทศ/ผลงานตีพิมพ์นานาชาติ จำนวน 46 เรื่อง
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ผลงานเด่นดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ วว. ที่บุคลากรทุกคนล้วนมีความตั้งใจที่จะดำเนินงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชน ประชาชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป