กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อผลงานของรัฐบาลและ คสช. กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 624 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.2 ยังคงสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุไม่แน่ใจ/ขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ระบุไม่สนับสนุน
สำหรับคะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลและ คสช. จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ เมื่อพิจารณาในด้านต่างๆ พบประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา ดังต่อไปนี้
คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เมื่อคะแนนเต็ม 10 พบว่า ลำดับที่ 1 ได้แก่ การเพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้พการจาก 600 บาทเป็น 800 บาท ได้ 8.52 คะแนน มาตรการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้ 8.16 คะแนน ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา ได้ 8.08 คะแนน การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมในการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ได้ 7.95 คะแนน และความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง ได้ 7.91 คะแนน ตามลำดับ
คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านการเมือง พบว่า การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ได้ 8.23 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน การส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 8.10 คะแนน การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้ 8.00 คะแนน การตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ และ การจัดการกับปัญหาแทรกซ้อนที่มีผู้พยายามก่อความวุ่นวาย และสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ได้ 7.99 คะแนน เท่ากัน นอกจากนี้คะแนนความ พึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อผลงานด้านการเมือง เป็นดังนี้ การยอมรับฟังความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประเทศของทุกกลุ่มทุกฝ่าย (7.94 คะแนน) การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ (7.94 คะแนน) ผลงานในการเดินทางไปประชุมร่วมกับต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีและคณะ (7.92 คะแนน) การกำกับดูแลความโปร่งใสของกิจการด้านพลังงาน (7.89 คะแนน) และ ความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน (7.77 คะแนน)
คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านเศรษฐกิจ พบว่า การส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้ 7.96 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ 7.91 คะแนน การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศไทย ได้ 7.86 คะแนน การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เติบโตมากขึ้น ได้ 7.82 คะแนน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมและการสื่อสาร ได้ 7.80 คะแนน นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมการค้าในระดับท้องถิ่น “ตลาดชุมชน” ได้ 7.77 คะแนนเท่ากัน ในขณะที่ การจัดโซนนิ่งพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของตลาด ได้ 7.69 คะแนน
คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านสังคม พบว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้ 8.18 คะแนน การปราบปรามจับกุมอาวุธสงคราม ได้ 8.14 คะแนน การจัดระเบียบสังคม ได้ 8.10 คะแนน การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ได้ 8.05 คะแนน การส่งเสริมค่านิยมความเป็นไทย 12 ประการ ได้ 7.97 คะแนน ตามลำดับ นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้ 7.91 คะแนน การจัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อคนมีรายได้น้อยที่มีปัญหาทางด้านกฎหมาย ได้ 7.79 คะแนน การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมในปี พ.ศ.2558 ได้ 7.73 คะแนน การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ได้ 7.72 คะแนน ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ ได้ 7.71 คะแนน ในขณะที่ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ 7.67 คะแนน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลและ คสช. โดยภาพรวมเปรียบเทียบจากการสำรวจตั้งแต่ช่วงเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนยังคงมีความพึงพอใจในระดับ “มาก” โดยได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 8 คะแนนขึ้นไป ทั้งนี้ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้พบว่าได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน