กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย สำรวจปัญหาระดมความคิดเห็นสมาชิก กฟก. ที่ได้รับการชำระหนี้แทน พร้อมจัดอบรมกฎหมายเบื้องต้นป้องกันเกษตรถูกเอารัดเอาเปรียบตั้งเป้าเดินหน้าจัดโครงการดังกล่าวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ติดตามตรวจเยี่ยม และบรรยายสรุป ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่ได้รับการชำระหนี้แทนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ว่า “ในพื้นที่ภาคเหนือนับเป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดปัญหา เกษตรกรถูกละเมิดสิทธิ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังเป็นการสำรวจผลการปฏิบัติการจาก กฟก. เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิกในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูล ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอจากเกษตรกรที่ได้รับการชำระหนี้แทน รวมถึงองค์กรเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุนและกู้ยืมมาใช้ในการดำเนินงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรรวมถึงการติดตาม การฟื้นฟูและพัฒนาด้านอาชีพเกษตรกรเพื่อนำวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรสมาชิก ที่จะเป็นการพัฒนาเกษตรและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าว
นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยังได้ร่วมมือกับทางสำนักงานอัยการสูงสุด โดยสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) จัดทำโครงการอบรมกฎหมายแก่เกษตรกรสมาชิก เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกฎหมายขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน กฎหมายการ เช่าซื้อ กฎหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดีทางแพ่ง เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
โดยโครงการดังกล่าวนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้เล็งเห็นความสำคัญว่า สังคมไทยในปัจจุบันเกษตรกรยังประสบปัญหาไม่รู้กฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกละเมิดสิทธิในทุกๆ ด้าน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยาก และเพื่อเป็นการเยียวยา จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมายให้แก่เกษตรกร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557
ซึ่งการอบรมกฎหมายให้แก่เกษตรกรสมาชิกครั้งนี้ ได้จัดทำขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมจังหวัดละ 100 ราย รวมทั้งสิ้น 7,700 รายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพความเข็มแข็งให้กับเกษตรในด้านความรู้เบื้องต้นทางด้านกฎหมาย และเป็นการป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่นๆ ตามมา