ยอดกษัตริย์นักแล่นเรือใบ

ข่าวกีฬา Tuesday December 9, 2014 18:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--Vivaldi PR …นับเป็นความซาบซึ้งอันหาที่สุดมิได้สำหรับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 5 ธันวา เวียนมาบรรจบอีกครั้งเพื่อให้เราได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พ่อหลวงของเราอีกวาระหนึ่ง สำหรับวงการกีฬาเรือใบของไทย นอกจากพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาผู้ยังความสุขแก่เหล่าพสกนิกรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงเป็นกษัตริย์นักแล่นเรือใบผู้ทรงพระปรีชายิ่ง แต่กลับมีชาวไทยเพียงน้อยคนที่ทราบถึงพระอัจฉริยภาพของกีฬาบนผืนน้ำและความผูกพันกับกีฬาเรือใบของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดกีฬาเรือใบมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์โดยมีโรงต่อเรือส่วนพระองค์ทั้งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งทรงเล่นและฝึกฝนกีฬาเรือใบอยู่เป็นประจำจนทรงพระปรีชายิ่ง ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 ทรงแล่นเรือใบประเภทโอเคชื่อ “เรือเวคา” ข้ามอ่าวไทยด้วยพระองค์เอง ระยะทางกว่า 60 ไมล์ทะเล โดยก่อนเวลารุ่งสางของวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแล่นเรือใบออกจากวังไกลกังวล โดยมีพระสหายอีกสามคนแล่นเรือใบร่วมตามไปด้วย ใช้เวลาเดินทาง 16 ชั่วโมงจนถึงที่หมายที่หาดเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ในเวลาค่ำของวันเดียวกัน ต่อมา ในวันที่ 16 ธันวาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชธิดาองค์ใหญ่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ ทรงเป็นตัวแทนในการแข่งขันเรือใบประเภท OK Dinghy Class และทรงครองตำแหน่งผู้ชนะเลิศ รายการกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 16 ธันวาคม จึงถูกกำหนดให้เป็นวันกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย เพื่อสดุดีพระปรีชาสามารถแห่งมิ่งขวัญของชาวไทย นาวาโทพีระ สกุลเต็ม ผู้จัดการแข่งขันและผู้ฝึกสอนในรายการภูเก็ตดิงกี้ซีรี่ส์และอินเตอร์เนชั่นแนลดิงกี้คลาส ซึ่งเป็นการแข่งขันเรือใบเล็กส่วนหนึ่งของภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการกีฬาเรือใบอย่างยิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีหนังสือถึงสมาคมแข่งเรือใบฯให้มีการบูรณะซ่อมแซมเรือใบพระที่นั่ง ที่ทรงเคยเล่นในอดีต สิ่งนี้นำความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้มาสู่นักกีฬาเรือใบทุกคน โดยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านยังทรงระลึกถึงกีฬาเรือใบเล็กและมีความผูกพันกับกีฬาเรือใบอยู่เสมอ พวกเราเหล่านักกีฬาเรือใบจึงขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และขอให้คำมั่นว่าจะดำเนินการจัดงานเพื่อส่งเสริมกีฬาเรือใบต่อไปอย่างสุดความสามารถ” เพื่อเป็นการสดุดีแด่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะนักแล่นเรือใบผู้ปรีชา รวมถึงคุณูปการต่อวงการกีฬา ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญที่ระลึก "Insignia of the Olympic Order" โดยถือเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ยังทรงครงราชสมบัติที่ได้รับเกียรตินี้ และในปีเดียวกันนั้นเอง การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้ถือกำเนิดขึ้น โดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้สโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมด้วยสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพเรือและจังหวัดภูเก็ต และได้มีการจัดการแข่งขันในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นรายการแข่งขันรีกัตต้าอันทรงเกียรติแห่งเอเชีย ที่นักแข่งเรือใบจากทั่วโลกต่างต้องการเข้าร่วมเพื่อเป็นเกียรติและรับถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อิทธินัย ยิ่งศิริ กัปตันทีมเรือไพน์ แปซิฟิค ซึ่งร่วมลงแข่งขันในประเภทครูซิ่ง รุ่นพรีเมียร์เล่าว่า “ผมเล่นเรือใบมากว่า 30 ปีแล้วครับ ช่วงแรกเล่นแต่เรือใบเล็ก และหันมาจับเรือใบใหญ่ในช่วงสิบกว่าปีหลังนี้ สาเหตุที่ผมสร้างทีมเรือไพน์แปซิฟิคขึ้นมาเพื่อสำหรับใช้ลงแข่งในรายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เพราะรายการนี้จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติองค์พ่ออยู่หัวของเรา ผมไม่ใช้เรือลำนี้ลงแข่งในรีกัตต้ารายการอื่น เพื่อให้ภูเก็ตคิงส์คัพมีทีมเรือใบตัวแทนของประเทศไทยลงแข่งขันทุกปี ซึ่งผมและทีมรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งและพยายามแข่งขันให้ดีที่สุด ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทำให้วงการเรือใบไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล จนทำให้เกิดสนามแข่งขันระดับโลกขึ้นที่ภูเก็ตและมีการจัดรายการแข่งขันที่สำคัญให้เราได้ร่วมแข่งขันเช่นทุกวันนี้” หนึ่งในไฮไลท์การแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าคือพิธีสวนสนามทางทะเล ซึ่งเรือใบทุกลำที่เข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละปี จะตั้งขบวนแล่นรอบเรือหลวงซึ่งเป็นที่ตั้งของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อแสดงความเคารพสูงสุดต่อองค์กษัตริย์นักแล่นเรือใบ ศรัณวงศ์ พูนพัฒน์ หรือน้องฮาร์วี่ ทายาทตระกูลพูนพัฒน์ซึ่งเป็นครอบครัวนักเล่นเรือใบชื่อดัง ปัจจุบันฮาร์วี่ เป็นนักกีฬาเยาวชนตัวเก็งในรุ่นออพติมิสต์ซึ่งทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมและเป็นหนึ่งในดาวรุ่งเยาวชนที่น่าจับตามอง น้องฮาร์วี่เล่าว่ารู้สึกภูมิใจมากที่ได้ลงแข่งในรายการอินเตอร์เนชั่นแนลดิงกี้คลาส และได้นำเรือของตนเองร่วมขบวนสวนสนามทางทะเลเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติแก่ในหลวงร่วมกับเหล่านักแล่นใบจากทั่วโลก “ภูมิใจมากครับที่ได้ร่วมพิธีอันทรงเกียรติและได้เป็นส่วนหนึ่งในรายการนี้ เพราะผมรู้ว่าในหลวงก็เคยเล่นเรือใบเล็กเหมือนกัน ผมจะเล่นให้ดีที่สุดและจะชนะการแข่งให้ได้ เพื่อถวายแก่ในหลวงครับ” ปีเตอร์ คัมมินส์ นักกีฬาเรือใบ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวอาวุโส ซึ่งเคยมีโอกาสได้เล่นเรือใบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้เขียนหนังสือ “His Majesty King Bhumibol Adulyadej: The Legendary Royal Sailor” กล่าวไว้ในหนังสือของเขาตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือองค์กษัตริย์ผู้จุดประกายแสงแห่งวงการนี้อย่างแท้จริงนับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 และทำให้วงการเรือใบไทยยิ่งเข้มแข็งขึ้นทุกปี ดังที่มีการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถด้านกีฬาทางน้ำของพระองค์ขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งการแล่นเรือมาราธอนข้ามอ่าว การรับเหรียญทองในกีฬาแหลมทอง และรางวัลอื่นๆ จากทั่วโลก ซึ่งมิเพียงเพื่อการยกย่องพระอัจฉริยภาพในการเล่นกีฬาเรือใบของพระองค์เท่านั้น หากยังรวมถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการกีฬาและนักกีฬาในสาขาอื่นๆ ทั่วทุกหนแห่งด้วย เหล่านี้คือ มรดกแห่งผืนน้ำอันล้ำค่าที่พระองค์มอบแก่เหล่าพสกนิกร”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ