กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์สุรินทร์ ชวนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จากจังหวัดอุบลฯ อำนาจเจริญ ยโสธร เปิดวงแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการทำนาเพื่อเพิ่มผลิตที่ยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
วันที่ 8-9 ธันวาคม 2557 มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ จังหวัดสุรินทร์ จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืนในการทำข้าวอินทรีย์ ขึ้นที่ห้องประชุมมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ เพื่อให้เกษตรกร และคนทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืนในการทำนาข้าวอินทรีย์ ทั้งการจัดการสหกรณ์การเกษตร เทคนิคการจัดการแปลงนา การปลูกข้าวประณีต (ปลูกข้าวต้นเดียว) เทคโนโลยีการจัดการน้ำ เครื่องทุ่นแรงทำนา เช่น เครื่องหยอดเมล็ดข้าว รวมทั้งการเตรียมรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีผู้เข้าร่วม จำนวนกว่า 50 คน
นายคาร์ล ฮารพ์ จากองค์กร Rice Monle Brunnen (RMB) สหกรณ์สวิทซ์ (COOP Switzerland) จากประเทศสวิชเซอร์แลนด์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำสหกรณ์การเกษตรที่ยั่งยืน กล่าวว่าสหกรณ์การเกษตร COOP ประเทศสวิชเซอร์แลนด์ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 รับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากจังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย และประเทศอินเดียมาขายให้แก่ผู้บริโภคทั่วทวีปยุโรปในรูปแบบสหกรณ์ โดยในปีที่ผ่านมามียอดขายกว่า 29 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา มีพนักงานในทวีปยุโรป กว่า 57,000 คน และในเฉพาะประเทศสวิชเซอร์แลนด์มีจำนวนกว่า 40,000 คน และมีร้านค้าจำหน่ายสินค้าอินทรย์จำนวนกว่า 2,600 มูลค่าการขายคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 50 % ของตลาดสินค้าอินทรีย์ในทวีปยุโรป
การจัดการสหกรณ์ให้เกิดความยั่งยืน มีแนวคิดหลักๆ คือการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผ่านระบบการค้าที่เป็นธรรม รวมทั้งการทำการเกษตรในระยะยาวต้องแก้ปัญหาโลกร้อนตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการแปรรูป และคิดให้ยาวถึงความยั่งยืนและการช่วยเหลือสังคมด้วย เช่น โรงสีของสหกรณ์ใช้พลังงานโซลาเซลแทนน้ำมัน เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กำไรจากโรงสีนำมาจ้างคนพิการให้มีงานทำ เป็นต้น
นายพูลสมบัติ นามหล้า ผู้ประสานงานโครงการข้าวยั่งยืนมูลนิธิเกษตรนิเวศน์ กล่าวว่าโครงการข้าวยั่งยืนหรือ Helvetas Thailand ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิเกษตรนิเวศน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ยกระดับให้เกิดความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้น่าสนใจ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา ได้ทดลองเทคนิคสำคัญเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรอินทรีย์จำนวน 39 ราย ได้แก่ การทดลองปลูกข้าวในเดือนต่างๆ การหว่านข้าวพร้อมถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วเขียว การฉีดพ่นน้ำหมักขี้หมู หน่อกล้วย หรือเกลือ การปลูกข้าวแบบ SRI ฉีดพ่นไตโคเดอมา น้ำส้มควันไม้ และสารสกัดจากสะเดา ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
จากนั้นเป็นการลงพื้นที่ดูเรียนรู้นวัตกรรมการทำนารูปแบบใหม่ในพื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เพื่อศึกษานวัตกรรมการทำนาปลูกแบบ RSI หรือการปลูกข้าวต้นเดียว นายพินิจ สร้อยดอก เกษตรกรตำบลสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ที่มีพื้นที่นาเพียง 6 ไร่ เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ไม่ยอมจนด้วยพื้นที่นาน้อย ได้ปรับประยุกต์ใช้พื้นที่นาเพียง 3 งานทดลองปลูกข้าวแบบ RSI ได้ผลผลิตสูงถึง 760 กิโลกรัม รวมทั้งการปลูกผักหลังฤดูเก็บเกี่ยว นำไปจำหน่ายที่ตลาดเขียว ทำให้มีรายได้เพิ่มจากการทำนาเดือนละกว่า 8,000 บาท เป็นต้น
ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ โคตรโสภา เกษตรกรตำบลสำโรง ได้ประยุกต์ใช้ระบบท่อ PVC ควบคุมระดับน้ำในแปลงนา ซึ่งเดิมใช้ท่อใยหินแต่ประสบปัญหาการรั่วซึม หรือแตก ระบบท่อ PVC ช่วยลดปัญหาน้ำไม่พอ น้ำล้น จัดระดับน้ำที่เหมาะสมกับข้าวในแต่ละช่วง ซึ่งการปลูกข้าวแบบ RSI จำเป็นต้องมีระดับน้ำที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยควบคุมหญ้าหรือวัชพืชไม่ให้เกิดด้วย
จากนั้นได้เปิดเวทีให้เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวรับมือของเกษตรกรอินทรีย์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนายอุบล อยู่หว้า รองประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ และนายมนูญ ภูผา เกษตรกรต้นแบบยโสธร ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบันที่มีสภาพแปรปรวนและภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงกะทันหัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีแมลงและศัตรูพืชมากขึ้น เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เกษตรกรอินทรีย์จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการกำจัดโรคเหล่านี้ด้วยวิธีธรรมชาติ เรียนรู้นวัตกรรมการทำนาที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับตัวให้ทันท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศในชุมชน การเก็บรวบรวมพันธุกรรมท้องถิ่นเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในชุมชน เป็นต้น