กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--พีอาร์ดีดี
โอกาสและความท้าทายของภาคการผลิตไทย
โดย ดร.สหนนท์ ตั้งเบ็ญจสิริกุล
บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (ดีลอยท์ ประเทศไทย)
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคการผลิตมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยมาหลายทศวรรษจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณร้อยละ 37 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)และประมาณร้อยละ 16 ของการจ้างงานในประเทศไทย เกิดจากภาคการผลิต
นอกจากนี้ภาคการผลิตทำหน้าที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจอื่นที่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำของไทย
อาทิ การค้า การขนส่ง การก่อสร้าง การท่องเที่ยว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภาคการผลิตไทยเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนหลายด้านไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก อุทกภัยครั้งรุนแรงและการแย่งตลาดส่งออกและเงินลงทุนจากประเทศคู่แข่ง
สำหรับภาพรวมในปี 2557 ภาคการผลิตมีแนวโน้มหดตัวลงจากปีที่แล้วเนื่องจาก2 สาเหตุหลัก คือ ความ ต้องการซื้อจากตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวดี และปัญหาการเมืองภายในประเทศซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคและนักลงทุนโดยมีหลายอุตสาหกรรมที่ผลผลิตหดตัว อาทิ ยานยนต์ ปิโตรเลียมอัญมณีเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ปูนซิเมนต์และอุตสาหกรรมที่ผลผลิตขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ ได้แก่คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ในปี 2558 ดีลอยท์ประเมินว่าภาคการผลิตโดยรวมจะฟื้นตัวและเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอุปสงค์ภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐบาลและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับภาครัฐบาลสิ่งที่ควรดำเนินการในระยะสั้นเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตคือ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกเรื่องการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยทั้งนี้ดัชนี Ease of Doing Business (ล่าสุด) ที่ทาง World Bank Groupได้จัดอันดับไว้นั้น ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 18 จากทั้งหมด 189ประเทศ หากเปรียบเทียบกับกลุ่ม ASEAN ไทยยังตามหลังสิงคโปร์ (อันดับ1)และมาเลเซีย (อันดับ 6) โดยรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้าในการขอใบรง.4 ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ยังคงรอการแก้ไข ได้แก่ การจดทะเบียนตั้งบริษัทการเสียภาษี การขอสินเชื่อ รวมถึงการแก้ไขปัญหากรณีที่ล้มละลาย
จากการวิเคราะห์โดยหน่วยวิจัยของรัฐบาลและภาคเอกชนการเจริญเติบโตของภาคการผลิตไทยในระยะยาวนั้นขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการแข่งขันและวงจรธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรมโดยสามารถมองอุตสาหกรรมไทยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและตลาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารสัตว์ ยางพาราอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมที่ตลาดอิ่มตัวและการลงทุนมีแนวโน้มลดลงในอนาคต อาทิคอมพิวเตอร์และ อุปกรณ์ เครื่องโทรสาร กล้องดิจิตอล โทรทัศน์เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปใช้สินค้าอื่นและผู้ผลิตใช้ประเทศอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าเป็นฐานการผลิต เช่น
แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น
- อุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับนโยบายลงทุนภาครัฐบาล ได้แก่ กลุ่มซิเมนต์เหล็ก และวัสดุก่อสร้างซึ่งจะขยายตัวตามโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์
นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้แรงเสริมจากการลงทุนของภาคเอกชนตามการลงทุนของภาครัฐบาลอีกด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปิด AEC ในปี 2558และทำให้ภาคการผลิตของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาวภาครัฐบาลและเอกชนควรร่วมมือกันเพื่อเอาชนะความท้าทายหลายด้าน ได้แก่
- ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยนักลงทุนชะลอการลงทุนหรือบางรายย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นทั้งนี้การปฏิรูปและแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองอย่างจริงจังถือเป็นหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของภาคการผลิตของไทย
- ปัญหาด้านแรงงานปัญหาการขาดแคลนและคุณภาพแรงงานของไทยเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอีก 10ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังแรงงานไทยลดลงในระยะยาวและส่งผลเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้การปฏิรูประบบการศึกษาโดยเน้นสมดุลระหว่างผู้เรียนสายสามัญและสายอาชีวะและยุทธศาสตร์การพัฒนาคนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทยทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งที่จำเป็น
- ปัญหาด้านประสิทธิภาพภาคการผลิตไทยเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ที่สูงมายาวนานรัฐบาลและภาคเอกชนควรร่วมมือกันในการเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานการผลิตส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D)และสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Add)
- ตลาดเปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน คือคนเจนเนอเรชั่น X และ Y ได้เปลี่ยนแปลงไปจากผู้บริโภครุ่นก่อนส่งผลทำให้หลายอุตสากรรมที่เคยเจริญเติบโตสูงในอดีตเกิดการชะลอตัวลงหรือถดถอย
ดังนั้นต้องสร้างกลยุทธ์ขยายไปยังตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพเน้นตลาดที่มีขนาดใหญ่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูง
- การแข่งขัน ประเทศคู่แข่งในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจไปลงทุนเป็นจำนวนมากเนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีประชากรวัยเด็กและวัยทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงและจะเป็นกำลังซื้อขนาดใหญ่ในอนาคตรัฐบาลอาจพิจารณาปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงและอุตสาหกรรมที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตในอนาคต
- การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเชื่อมโยงในคาบสมุทรอินโดจีนผู้ประกอบการผลิตสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านกล่าวได้ว่าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจะเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลง(ประหยัดเงินและเวลาการส่งมอบสินค้าเร็วขึ้น)การลงทุนและความเจริญที่กระจายออกไปยังส่วนภูมิภาคทำให้ตลาดภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่อง