กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ดรีม ซีเควนซ์
ที่ว่างระหว่างสมุทร (The Isthmus) มีกำหนดการจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ลิโด้และโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย โสภาวรรณ บุญนิมิตร อาจารย์ประจำภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพีรชัย เกิดสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับทุนสนับสนุนการผลิตจากโครงการไทยเข้มแข็ง สหภาพยุโรป Save the Children UK และมูลนิธิรักษ์ไทย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้ฉายรอบ World Premiere ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 18 ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในสายประกวด New Currents รวมทั้งเทศกาลนานาชาติอื่นๆ ทั่วโลก ตามรายละเอียดดังนี้
- The 18th Busan International Film Festival (ประเทศเกาหลีใต้)
- The 17th Shanghai International Film Festival (ประเทศจีน)
- World Film Festival of Bangkok 2013 (ประเทศไทย)
- The 18th International Film Festival of Kerala (ประเทศอินเดีย)
- ARTE 2014 Indonesia Arts Festival (ประเทศอินโดนีเซีย)
- Asiatica Film Mediale in Rome 2014 (ประเทศอิตาลี)
- Hanoi International Film Festival 2014 (ประเทศเวียดนาม)
เรื่องย่อ
หลังการตายของพี่เลี้ยงชาวพม่า ดาพบว่าลูกสาววัย 8 ขวบพูดแต่ภาษาพม่า ดารู้สึกว่าอาการผิดปกตินี้อาจเกี่ยวข้องกับความผูกพันระหว่างวิญญาณของพี่เลี้ยงกับลูกสาวของเธอ สองแม่ลูกจึงเดินทางไปตามหาครอบครัวของพี่เลี้ยงที่คอคอดกระ จังหวัดระนอง เพื่อนำเถ้ากระดูกของพี่เลี้ยงไปคืนให้ แต่ทั้งสองกลับได้พบเรื่องราวไม่คาดฝันมากมายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในสถานที่แห่งนั้น
นักแสดงหลัก
แสงทอง เกตุอู่ทอง รับบท ดา
นางแบบและนักแสดงชื่อดัง แสงทองมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ หมานคร (พ.ศ. 2547) และเคยได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไชยา ในปี พ.ศ. 2550
มาริสา คิดด์ รับบท หอม
สาวน้อยวัย 9 ปี ลูกครึ่งไทย - ออสเตรเลีย นักแสดงหน้าใหม่
ซอว์ มาร์เวิลลัส โซ รับบท ดร. เทท
นักร้องสัญชาติพม่าจากชนเผ่ากะเหรี่ยง บทเพลงของมาร์เวิลลัสไพเราะและได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวกะเหรี่ยงหลายประเทศ
บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ (Q&A)
Q: ทำไมจึงสนใจประเด็นของแรงงานพม่าในไทย?
A: เราเคยทำสารคดี งานวีดีโออาร์ทและภาพนิ่ง ที่พูดถึงความพร่าเลือนของเส้นแบ่งทางพื้นที่ เช่นความเป็นเพศผ่านการมองร่างกาย จนช่วงหลังเราเริ่มพูดเรื่องพื้นที่ในสื่อของคนพลัดถิ่น (diaspora) ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการสร้างมายาคติโดยเฉพาะด้านลบให้กับคนพลัดถิ่น
Q: ช่วยยกตัวอย่างได้ไหม?
A: คนพลัดถิ่นชาวพม่าหลายคนเกิดและเติบโตที่นี่แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ทั้งที่เราพึ่งพาแรงงานจากพม่าในด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง เด็กไทยในปัจุบันไม่น้อยมีพี่เลี้ยงเป็นชาวพม่าและอยู่ร่วมกับครอบครัวมาเป็นเวลานาน ถือเป็นบุคคลสำคัญในครอบครัว แต่เรากลับรู้จักพวกเขาน้อยมากเพราะมีอคติบางอย่างทำให้เรามองเขาอย่างไม่เป็นมิตร หรือแม้กระทั่งมองเขาเป็นคนร้ายหรือเป็นศัตรู นี่เป็นสิ่งที่เราต้องพูดกันอย่างจริงจัง ถ้าเราคาดหวังว่าจะเดินไปสู่ทิศทางของการเป็นสมาชิกในชุมชนเดียวกัน สิ่งที่เราอยากจะสะท้อนอีกอย่างก็คือ มีความพยายามที่จะสร้างความเป็นอื่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ของตัวเรา พยายามสร้างขั้วความคิดแบบพวกเรา-พวกเขา แล้วโยงเข้ากับความรักชาติ ซึ่งมันกำลังบ่งบอกสภาวะของสังคมที่กำลังเผชิญวิกฤติการณ์หลายอย่างของบ้านเราในเวลานี้
Q: ตัวละครจำนวนมากในหนังเป็นคนพม่าและพูดภาษาพม่า แม้แต่คนเล่าเรื่อง สำหรับหนังไทยแล้ว นี่เป็นอะไรที่จัดว่าแปลกหรือเปล่า
A: ภาษาเป็นสิ่งสำคัญของหนัง เพราะเรามองว่ามันเป็นทั้งช่องทางการสื่อสารและอุปสรรคที่ขวางกั้นการทำความเข้าใจ และความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น ที่บอกว่าภาษาอาจเป็นอุปสรรค ตัวอย่างเช่น สิ่งสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดเรื่องในหนังก็เป็นเพราะตัวละครแม่รู้สึกวิตกเป็นอย่างมากเมื่อรู้ว่าลูกสาวพูดภาษาพม่าได้ ซึ่งมันน่าจะดีแต่ผู้เป็นแม่ยอมรับไม่ได้เพราะมีอคติในใจ การที่เราให้ผู้เล่าเรื่องที่เป็นคนไทยก็จริงแต่ต้องใช้ภาษาพม่าเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในวัยเด็กก็เกี่ยวข้องกับอคตินี้เช่นกัน แต่พอเป็นแบบนี้มันก็อาจจะสร้างโอกาสที่ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ เป็นส่วนผสมแบบพิเศษของสิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ จริงบ้างจินตนาการบ้างตามประสาเด็ก เราต้องการผสมผสานเรื่องเล่าแบบนิทานก่อนนอน คติพื้นบ้านของพม่าเข้ากับความจริงของชีวิตแรงงานพม่าในเมืองไทย แม้จะมีการมองโลกในแง่ดีแบบเด็กๆ แต่ปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้และความสัมพันธ์ที่ไม่มีทางเชื่อมถึงกันได้อย่างแท้จริง ก็ทิ้งช่องว่างที่ไม่มีวันเติมเต็มไว้มากมาย
Q: แล้วคิดว่า ที่ว่างระหว่างสมุทรมีจุดเด่นอะไรบ้าง
A: ในความเป็นหนังอิสระ เรามีพื้นที่ในการพูดถึงสิ่งที่แตกต่างไปจากหนังปกติ ในประเด็นของคนพลัดถิ่นชาวพม่า เราไม่อยากจะพูดถึงเพียงด้านที่มักจะถูกนำเสนออยู่ซ้ำๆ เท่านั้น เรารู้สึกว่ายังมีอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ยังน่าสนใจ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พลังศรัทธาที่ใช้รับมือกับความยากลำบากต่างๆ เราต้องการหามุมใหม่ๆ ในการพูดถึงเนื้อหาแบบนี้แทนที่จะถ่ายทอดเพียงสภาพทางกายภาพและปัญหาภายนอก เราถือว่าหนังเล็กๆ เรื่องนี้เป็นบทบันทึกส่วนตัวของความผูกพันระหว่างเรากับเพื่อนชาวพม่า หนังอาจไม่สมบูรณ์แบบเพราะเรามีงบประมาณที่น้อยมาก แม้แต่เมื่อเทียบกับหนังนอกกระแสด้วยกันเอง แต่โชคดีที่เราได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรและได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงและลูกศิษย์จำนวนมาก ในด้านนักแสดง ส่วนใหญ่จะเป็นคนพม่าที่อยู่ที่จังหวัดระนองที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน ส่วนคนที่รับบทเป็นหมอมาจากพม่าเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวกะเหรี่ยงทั้งที่พม่าและไทย มีเพียงนางเอก คือคุณจี๊ด แสงทองและเปรอน ยาสุ ชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักแสดงมืออาชีพที่เราคุ้นตากัน นักแสดงชาวพม่าที่อยู่ในหนังแทบทุกคนมีงานประจำที่ต้องทำ บางคนทำงานอยู่ที่ปั๊มในตอนกลางวัน และมาเล่นหนังให้เราตอนกลางคืน แต่นักแสดงพม่าแทบทุกคนแม้ไม่มีประสบการณ์การแสดงใดๆ เลย แต่มีความเป็นธรรมชาติและมีพลังศิลปินกันเต็มเปี่ยม
Q: ชื่อเรื่อง ‘ที่ว่างระหว่างสมุทร’ นี่ต้องการจะสื่อถึงอะไรบ้าง
A: เราได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Isthmus ที่แปลว่า คอคอด ขึ้นมาก่อน เพราะคอคอดกระซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมาลายูตั้งอยู่ในจังหวัดระนองเป็นฉากสำคัญของหนัง ในคอคอดที่กั้นระหว่าง 2 มหาสมุทรนี้เป็นพื้นที่ของทั้งประเทศไทยและพม่า และในพื้นที่แคบๆ ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม โดยเราต้องการชวนให้คิดว่า พื้นที่อันจำกัดของมันน่าจะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศต้องเข้ามาใกล้กันที่สุด แต่เรากลับสร้างเส้นแบ่งหรือกำแพงขึ้นกั้นกลางความสัมพันธ์ระหว่างกัน ชื่อภาษาไทยจึงให้นัยยะว่า ที่ว่างอันเปิดกว้าง ในอุดมคติพื้นที่นี้ควรจะเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ที่ปราศจากอคติ มายาคติ และการแบ่งแยกใดๆ