กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง 3 เดือนรัฐบาลกับความชัดเจนในผลงาน กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 629 ชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม 2557
ผลการสำรวจเมื่อสอบถามถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อย (ร้อยละ 98.3) ระบุติดตามเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ ร้อยละ 1.1 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงผลงานที่เด่นชัด/เป็นรูปธรรมของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 46.0 ระบุผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือ ผลงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 34.0) การสร้างความเข้าใจกับคนในชาติ การส่งเสริมความสามัคคี การคืนความสุขให้ประชาชน (ร้อยละ 24.1) นอกจากนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 16.7 ผลงานด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ร้อยละ 14.1 ระบุผลงานโดยภาพรวมของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.0 ผลงานด้านการบริหารราชการแผ่นดินโดยภาพรวม ตามลำดับ
ในขณะที่เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อไปถึงผลงานที่ยังไม่เห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมนั้นพบว่า ร้อยละ 34.1 ระบุการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 24.3 ระบุการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 8.6 ระบุ การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้าง ร้อยละ 8.6 เช่นเดียวกันที่ระบุการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 6.4 ระบุการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 5.8 ระบุการยุติความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง และร้อยละ 15.7 ระบุอื่นๆ อาทิ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ การร่างรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงการคมนาคมและถนนหนทาง การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านชุมชนของตนเองนั้นพบว่า ร้อยละ 33.1 ระบุชาวบ้านมีความสุขมากขึ้น ร้อยละ 54.6 ระบุมีความสุขเหมือนเดิม ร้อยละ 9.1 ระบุเดือดร้อนเหมือนเดิม และร้อยละ 3.2 ระบุเดือดร้อนมากขึ้น
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.1 ระบุคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 42.5 ระบุดีเหมือนเดิม ร้อยละ 14.5 ระบุแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 4.9 ระบุแย่ลง
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้น พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 51.4 ระบุเชื่อมั่นมาก-มากที่สุด ร้อยละ 33.2 ระบุค่อนข้างเชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุไม่ค่อยเชื่อมั่น-ไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 2.6 ระบุไม่เชื่อมั่นเลย