กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 5.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.05เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 4.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.33เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 6.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่61.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 6.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่73.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ซาอุดีอะระเบียปรับลดราคาขายอย่างเป็นทางการ (Official Selling Prices: OSPs) สำหรับเดือน ม.ค.58 แก่ผู้ซื้อแบบ Term ใน เอเชียและสหรัฐฯ สำหรับผู้ซื้อในสหรัฐฯ จะเป็นการปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และสำหรับผู้ซื้อในเอเซียจะเป็นราคาต่ำสุดตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากลุ่ม OPEC ได้เข้าสู่สงครามราคา (Price Wars) กับผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่ม Non-OPEC หรือสหรัฐฯ
- SOMO ของอิรักปรับลดราคาขายทางการ (OSP) ชนิด Basrah light สำหรับเดือน ม.ค.58 สู่เอเชียและสหรัฐฯ ลง โดยราคา OSP สำหรับน้ำมันดิบชนิด Basrah Light สู่เอเชียอยู่ที่ Dubai/Oman-4.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- OPEC ปรับลดคาดการณ์ Call-on-OPEC ในปี 2558 ลง 280,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 28.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าปริมาณที่ OPEC ผลิตอยู่เกินความต้องการในปัจจุบันถึง 1.13 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยปรับลดอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกปี 2558 ลง 70,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ อุปสงค์ปี2557 ลง 120,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 0.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Kiril Molodtsov ให้สัมภาษณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียปี 2558 จะอยู่ที่ระดับ 10.56-10.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปริมาณการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 10.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และระบุว่ารัสเซียพร้อมปรับปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานอีกทั้งยังประเมินว่าปัจจุบันอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมากกว่าอุปสงค์ประมาณ 800,000 บาร์เรลต่อวัน
- EIA ประเมินราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรกของปีจะอยู่ที่ 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 4
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ในด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 58 แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarms Payroll) ซึ่งอยู่ที่ 321,000 อัตรา สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์โดย Wall Street ที่ 230,000 และอัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ซึ่งคงที่ ที่ระดับ 5.8% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งบ่งบอกถึงเสถียรภาพของเศษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลก
- กรมศุลกากรจีนเผยตัวเลขปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือน พ.ย. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.9% อยู่ที่ระดับ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการเข้าซื้อน้ำมันดิบของบริษัท Chinaoil ปริมาณรวมกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวัน และการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นภายในประเทศ
- FED ยังคงจุดยืนคงอัตราดอกเบี้ยต่ำโดย นาย Dennis Lockhart ประธาน FED สาขา Atlanta มองว่า FED ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปีหน้าหรือหลังจากนั้น หลังจากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจแล้ว
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตัวที่ระดับ $61.85/BBL ลดลง $ 1.83/BBL เมื่อสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ธ.ค. 57 ราคาน้ำมันดิบโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ IEA คาดการณ์ว่าการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบจะไม่มีผลกับอุปทานและอุปสงค์ของตลาดน้ำมันในระยะสั้น ยังปรับลดคาดการณ์ทั้งการเติบโตของ อุปสงค์โลกและ Call-on-OPEC ลงสำหรับปี 2558 และคาดว่าจะมีการกักเก็บน้ำมันดิบกว่า 300 MMB หรือ 1.67 MMBD ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 นาย Abdullah al-Badri เลขาธิการ OPEC ออกมาปกป้องนโยบายของกลุ่มที่จะคงเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 30 MMBD โดยกลุ่ม OPEC ไม่มีกรอบราคาเป้าหมายแม้ว่าตนจะมีความเห็นว่าราคาปัจจุบันต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามองคงเป็นสถานการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศลิเบียที่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏส่งผลให้ Libya’s National Oil Corp. อาจต้องประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักได้แก่ Ras Lanuf และ Es Sider ในสัปดาห์นี้กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ ICE Brent อยู่ที่ระดับ$56 - $63/BBL และ NYMEX WTI อยู่ที่ระดับ $55 - $60/BBL
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Reuters คาดการณ์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าGasoline รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะนำเข้าในเดือน ม.ค. 58 ลดลง 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบปี เป็นผลจากราคาขายปลีกภายในประเทศที่ปรับสูงขึ้น หลังรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซิน 88 RONเมื่อกลางเดือน พ.ย. 57 ขณะที่ นักวิเคราะห์จาก Energy Aspects คาดอุปสงค์ น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียในปี 57 จะลดลงจากปีก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 10% ประกอบกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดฯ(Pertamina)ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ Sinopec ของจีน, Saudi Aramco ของซาอุดีอาระเบีย และ JX Nippon Oil & Energy ของญี่ปุ่น เรื่องการขยายกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งในอินโดฯ จาก 820,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน กำหนดแล้วเสร็จปี 2568 โดยจะขยายกำลังผลิตน้ำมันเบนซินกว่า 3 เท่า มาอยู่ที่ระดับ 630,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันเบนซินกว่า 2 เท่า มาอยู่ที่ระดับ 770,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามIES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ธ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.53 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.85 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ธ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.45% มาอยู่ที่ 9.94 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67 - 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล ลดลงจาก Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ของไต้หวันมีแผนเพิ่มอัตราการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมัน Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) จาก 72-74% ในเดือน ธ.ค. 57มาอยู่ที่ 93-96% ในเดือน ม.ค. 58 เพื่อเพิ่มยอดส่งออกน้ำมันดีเซล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันอากาศยาน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.54% มาอยู่ที่ 6.29 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามบริษัท TonenGeneral Sekiyu ของญี่ปุ่นปิดดำเนินการฉุกเฉิน CDU ที่โรงกลั่นน้ำมัน Sakai (กำลังการกลั่น 156,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเหตุอัคคีภัย และยังไม่มีกำหนดกลับมาดำเนินการ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ธ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.96 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 8.56 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล