กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
...ค่อนข้างหลงตัวเอง มีความเพ้อฝัน มีความเป็นอิสระ แต่ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ ยังสนใจเพศเดียวกัน (วัยรุ่นตอนต้น อายุ 10-16 ปี) นิสัยดื้อรั้น โมโหง่าย มักจะมีความขัดแย้งกับพ่อแม่สูง เพื่อนมีอิทธิพลสูง เริ่มสนสนใจเพศตรงข้าม เป็นระยะที่จะเริ่มทดลองเรื่องเพศ ยังคงมีความคิดเพ้อฝัน (วัยรุ่นตอนกลาง อายุ 14-20 ปี) รู้จักบทบาทของเพศตัวเองเต็มที่ มีความอิสระเต็มที่ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ค่อนข้างยอมรับการให้คำแนะนำได้ง่ายกว่าวัยต้นๆ ป้องกันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม (วัยรุ่นตอนปลาย อายุ 18-22 ปี) (ข้อมูลจากwww.sopon.ac.th/sopon.sema.../young1_p23.htm) นี่คือลักษณะของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่พึงรู้ไว้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานใกล้ตัวเด็ก...
“คนทำงานกับเด็ก เยาวชนต้องมีความเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่น เพราะถ้าเข้าใจเรื่องนี้ จะช่วยให้นักถักทอฯ กลับไปทำงานกับเด็ก เยาวชนได้อย่างเข้าใจมากขึ้นนั่นเอง” นี่คือแนวคิดของ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) ผู้ดำเนินการโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น(4ภาค)ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) จึงได้เชิญวิทยากรสองท่าน นางเสาวลักษณ์ เกศนาคินทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการหัวหน้างานสุขภาพจิต และนางวิภาดา อัฐพรพยาบาลวิชาชีพ สำนักงานสาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช มาให้ความรู้เกี่ยวกับ“จิตวิทยาวัยรุ่น และการให้คำปรึกษาวัยรุ่น” แก่ “นักถักทอชุมชน” ที่พื้นที่โซนภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช และจ.กระบี่ ในเวทีที่ผ่านมา
นางเสาวลักษณ์ เกศนาคินทร์ กล่าวว่า “คนทำงานกับเยาวชนต้องเข้าใจเยาวชน เข้าใจในเชิงจิตวิทยาว่าเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและก็มีความเชื่อมั่นว่าเด็ก เยาวชนทุกคนสามารถพัฒนาได้ และคนทำงานต้องมีทักษะในการเติมเต็มเด็ก และขอให้มีใจที่รัก เข้าใจเขา พร้อมที่จะช่วยเหลือเขา ถ้ามีตรงนี้ก็จะสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้สำเร็จแน่นอน”
นางเสาวลักษณ์แนะนำต่อว่า “สำหรับจิตวิทยาวัยรุ่นที่คนทำงานกับเด็ก เยาวชนต้องรู้คือการปรับทัศนคติของตนเองให้คิดบวก การเข้าใจพัฒนาการของแต่ละช่วงวัยที่อยู่ในชุมชนเริ่มตั้งแต่เด็กและก็เติบโตมาเป็นวัยรุ่น เป็นคนทำงานและผู้สูงอายุ ถ้านักถักทอฯ ความเข้าใจและรู้ว่าปัญหาในแต่ละช่วงวัยเกิดได้อย่างไร เราก็จะมาช่วยเติมเต็มให้พวกเขาได้เป็นทักษะที่นักถักทอชุมชนต้องค่อยๆ เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์กันไป วันนี้ได้นำวิธีการปรับทัศนคติให้กับนักถักทอฯ โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ตั้งแต่ให้เขาเห็นประสบการณ์จากตัวเขาเอง เขาเคยเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่นมาก่อน และบางคนเคยทำงานมา สูงอายุแล้วก็มี ใช้กระบวนการกลุ่มโดยดึงเอาประสบการณ์เดิมของแต่ละคนให้เขาได้แลกเปลี่ยนกัน และก็จากประเด็นที่สำคัญและก็ยิงคำถามเป็นการชวนคิด”
โดยสองวิทยากรได้ให้นักถักทอชุมชนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ได้คิดและทำจริง อาทิ กิจกรรมเส้นทางชีวิต ให้โจทย์ถ้าคิดถึงเรื่องเพศในทุกกลุ่มวัยจะคิดถึงเรื่องอะไร โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ ให้ทุกคนระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเพศประกอบด้วยอะไร พัฒนาอย่างไร ในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์ ไม่ต้องโฟกัสแค่เรื่องเพศเท่านั้น ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละวัยว่าเรื่องเพศเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งการกอด การเอาใจใส่ ความรัก อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง ก้าวร้าว ฯลฯ ทำให้ทุกคนเริ่มปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเพศไปได้ไม่มากก็น้อย วิทยากรได้สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าวัยเรียนไม่เข้มแข็งส่งผลถึงวัยรุ่น ต่อเนื่องถึงวัยทำงานและสุดท้ายบั้นปลายชีวิตก็จะไม่เหลืออะไร สิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมต้องช่วยกันคือการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และร่วมแก้ปัญหาให้กับเยาวชนเหล่านั้น
กิจกรรมรู้ว่าเสี่ยง ซึ่งนำมาเปรียบเทียบเรื่องอาหารกับเรื่องเพศได้อย่างเข้าใจแบบถ่องแท้ โดยวิทยากรให้นักถักทอชุมชนลองบอกวิธีการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชนตามหลักโภชนาการตั้งแต่ระดับมีประโยชน์มากที่สุดไปถึงน้อยที่สุด คือ ระดับ 100 / 80 / 50 และ 0 เปอร์เซนต์ ปรากฏว่านักถักทอเลือกในอันดับ 0 เยอะมาก ต่างสะท้อนว่า ที่เลือก 0 เปอร์เซนต์ เพราะอยากกินอะไรก็กิน หรือการเลือกอาหารมากินทำไม่ได้มากเราต้องไปซื้อที่ตลาดมีความเสี่ยงมาก ถ้าให้ปลอดภัยเราต้องปลูกผัก เลี้ยงสัตว์กินเอง หรือทั้งเหล้า บุหรี่ เหล้า เบียร์ ทุกอย่างก็ไม่เว้น ตามใจตัวเอง เป็นต้น
วิทยากรเฉลยท้ายสุดว่า “...แม้แต่เรื่องง่ายๆ อาหาร แต่ละคนรู้ว่ามันเสี่ยง รู้ เรากินมากไปเกิดโรคอะไร อ้วน เป็นไขมัน ความดัน หวาน เป็นเบาหวาน เค็ม เป็นไต โรคหัวใจ ไม่ระวังเลยสุขภาพ กำลังชวนให้คิดว่าเรื่องเพศ ยาเสพติด เยาวชนรู้ไหมว่าเสี่ยง บางครั้งทำไมเขายังไปทำ เพราะมันชอบใช่ไหม วันนี้มาชวนคุย ชวนคิด ถึงเวลาหรือยังที่เข้าใจตัวเอง และเข้าใจวัยรุ่น ไม่มีใครถูกใครผิด อยู่ที่คุณจะเลือกเป็นอะไร ต้องฝึกฝืนในตรงนี้จะช่วยให้กลับไปทำกิจกรรมกับเด็กได้อีกเยอะ” นี่คือการนำเรื่องใกล้ตัวเชื่อมโยงกับปัญหาของเยาวชน “...ปรับอะไรสักอย่างต้องไปปรับที่ความคิดว่าเขาตั้งเป้าหมายอย่างไร ตรงนี้เราต้องสร้างที่ตัวเองก่อนถึงจะไปสร้างที่คนอื่น..” วิทยากรให้ข้อคิด
กิจกรรมแสดงบทบาทสมมุติ โดยให้นักถักทอชุมชนและผู้ใหญ่ใจดีร่วมแสดงเป็นคนในสถาบันต่างๆ อาทิ นักการศึกษา สาธารณสุข อบต. ครอบครัว คนในชุมชน โดยมีเหตุการณ์สมมุติให้มีวัยรุ่นสองคน (แสดงโดยนักถักทอฯ) ในชุมชนเกิดท้องในวัยเรียน ให้ทุกกลุ่มส่งตัวแทนออกมาพูด โจทย์แรก พูดให้ทำให้คนฟังรู้สึกสถานการณ์แย่ลง และโจทย์สองพูดให้สถานการณ์นี้ทำให้คนฟังรู้สึกดีขึ้น หลังแสดงกันจบได้ถอดบทเรียนกัน ปรากฏว่านักถักทอฯ ที่แสดงเป็นวัยรุ่นท้องก่อนวัยเรียนรู้สึกสะเทือนใจกับคำพูดไม่ดีที่บุคคลทั้งหมดถาโถมเข้ามาถึงขนาดออกอาการเสียงสั่นเครือ เป็นกิจกรรมที่ทางวิทยากรจำลองให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงทำให้นักถักทอฯ เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น และทิ้งท้ายว่า.. “เราจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน แบบอำมหิต หรือ แบบออร่า อย่างน้อยที่สุดเราต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนไปทำงานกับเยาวชน..”
และมีความรู้อื่นๆ อาทิ ความสำคัญ เทคนิค และ พื้นฐานของการให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือทางจิตสังคมที่อาศัยสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้การศึกษากับผู้รับการศึกษาโดยผู้ให้การปรึกษาใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผู้รับการปรึกษา รับรู้ เข้าใจและยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถหาวิธีแก้ไขปัญหา ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นด้วยตนเอง
คุณลักษณะที่เหมาะสมของผู้ให้การปรึกษา 1.มีความรู้ในเรื่องให้คำปรึกษา 2.ยอมรับในความแตกต่างของบุคคล 3.เคารพความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น 4.ไวต่อความรู้สึก ความต้องการและปฏิกริยาของผู้อื่น 5.มีท่าที่ที่เป็นมิตรและจริงใจ 6.มีอารมณ์ที่มั่นคง สุขุม รอบคอบ 7.สามารถเก็บความลับ และเป็นที่ไว้วางใจได้ 8.มีความเห็นอกเห็นใจ 9.รู้จักให้กำลังใจ 10.สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ “อย่างน้อยที่สุดผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของตนเองก่อน ต้องผลักพลังออร่า(พลังด้านบวก) ต้องมีความการเข้าใจ ให้กำลังใจ การปลูกฝังสิ่งดีๆ ตัวเราเองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย” วิทยากรตบท้าย
เสียงสะท้อนจากนักถักทอชุมชน นางสาวรัชดา แหลมศักดิ์ (เอฟ) ผู้ช่วยเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน อบต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ “จิตวิทยาวัยรุ่นคิดว่ามีความสำคัญ การที่จะดึงเยาวชนกลุ่มที่มีปัญหาเข้ามาร่วมกิจกรรม เราต้องมีจิตวิทยาในการพูด การชักชวน การฟัง และต้องมีทัศนคติในการมองว่าสถานะของเด็กกลุ่มนี้ว่ามีปัญหาต่อไป หรือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง ชวนมาทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กปรับพฤติกรรมต่อไป”
อ.ทรงพล ได้ให้ข้อคิดตบท้ายว่า “ถ้าหากเรานำกิจกรรมนี้ไปให้วัยรุ่นทดลองทำกิจกรรมบทบาทสมมุติบ้าง ซึ่งพวกเราสะท้อนออกมาว่าได้เรียนรู้กันอย่างมากทีเดียวจะทำให้เด็กๆ เข้าใจบทบาทตัวเองมากขึ้น เหมือนกับที่เราเข้าใจ เพราะการแสดงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางตน ทำกิจกรรมให้เป็นเรื่องการเรียนรู้และพัฒนา ทำกิจกรรมแล้วถอดบทเรียน 4 หัวข้อ ใช้เครื่องมือการถอดบทเรียนเข้าไปช่วย ใช้ชุดคำถาม ความรู้ จะทำให้เข้าถึงเยาวชนได้”
จิตวิทยาวัยรุ่นคือวิธีการที่เข้าไป “เสริมพลัง” (empower) ให้วัยรุ่นเป็นSomebody ในทางที่ดี โดยมีคีย์เวิร์คสำคัญ “ความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ” นั่นเอง อยู่ที่ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เยาวชน จะสามารถทำความเข้าใจพวกเขาได้แค่ไหน ยิ่งเข้าใจมากการพัฒนาอนาคตของชาติให้เติบโตเป็นกำลังของผู้ใหญ่ยิ่งมีโอกาสมากเท่านั้น
ใต้ภาพ
1.นางวิภาดา อัฐพร - นางเสาวลักษณ์ เกศนาคินทร์ สองวิทยากร
2. บรรยากาศการเรียนรู้
3.กิจกรรมบทบาทสมมุติ
4.ระดมความคิด.
5.สวมบทบาทสมมุติ
6.แสดงละครเป็นเด็กมีปัญหา
7.กิจกรรมระดมความเห็นต่อช่วงวัย
8.ตัวอย่างกิจกรรมที่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้.JPG