โพลล์สำรวจการใช้รับชมโทรทัศน์และพฤติกรรมตัวละครไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 16, 2014 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,อาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ร่วมแถลงผลวิจัยพฤติกรรมการรับชมละครและนักแสดงละครไทยของกลุ่มเยาวชนในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล บทละครโทรทัศน์และพฤติกรรมตัวละคร ส่งผลต่อการแสดงออกของกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความห่วงใยเกี่ยวกับพฤติกรรมอ่อนไหวต่อการลอกเลียนแบบคนดัง ดารา บุคคลที่ตนเองชื่นชอบจากรายการโทรทัศน์น่าจะเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลในด้านพฤติกรรมของตนต่อการลอกเลียนแบบละครไทย ดาราไทยมากที่สุด และให้ข้อมูลได้ดีที่สุด จึงเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นพฤติกรรมจากละครสู่เยาวชนไทย ทีมงานสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทยจำนวน 1,143 คน อายุระหว่าง 19-22ปี ระดับการศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ระหว่างวันที่ 4-11 ธันวาคม 2557 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่าสำรวจพบรูปแบบการนำเสนอละครโทรทัศน์ที่กลุ่มตัวอย่างอยากรับชมมากที่สุด 5 อันดับคือ นำเสนอความเป็นจริงในสังคมทั้งด้านดีและด้านไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 82.33 มีการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างไปจากละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 79.88 ไม่จำเป็นต้องนำเสนอตัวอิจฉาประกอบอยู่ในเรื่องเสมอไป คิดเป็นร้อยละ 76.9 ใช้ตัวแสดงที่มีความเหมาะสมกับบทบาท คิดเป็นร้อยละ 73.84 และนำเสนอเนื้อหาที่ให้ประโยชน์และสาระความรู้กับผู้ชม คิดเป็นร้อยละ 69.84 ด้านพฤติกรรมการรับชมละครโทรทัศน์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองรับชมละครโทรทัศน์โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 3 – 5 เรื่องซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40.77 รองลงมาร้อยละ 35.87 รับชมสัปดาห์ละประมาณ 1 – 2 เรื่อง นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.15 ระบุว่าตนเองเคยรับชมละครโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบความชอบระหว่างการรับชมละครโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ทั่วไปกับการรับชมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.87 ระบุว่าตนเองชอบรับชมผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ทั่วไปมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.96 ระบุว่าชอบทั้ง 2 แบบเท่าๆกัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.17 ระบุว่าชอบรับชมผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า สำหรับปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างใช้พิจารณาเลือกรับชมละครโทรทัศน์เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้แก่ นักแสดง คิดเป็นร้อยละ 80.49 ประเภทของละคร คิดเป็นร้อยละ 78.3 เนื้อหา/เนื้อเรื่อง คิดเป็นร้อยละ 75.59 ช่วงเวลาที่ฉาย คิดเป็นร้อยละ 72.79 และการดำเนินเรื่อง คิดเป็นร้อยละ 70.95 ส่วนประเภทละครโทรทัศน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมรับชมนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 23.88 นิยมรับชมละครโทรทัศน์ประเภทรักโรแมนติก รองลงมานิยมรับชมละครโทรทัศน์ประเภทละครชีวิตคิดเป็นร้อยละ 20.04 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.57 ร้อยละ 14.61 และร้อยละ 10.94 นิยมรับชมละครโทรทัศน์ประเภทละครตลกเบาสมอง ละครแนวสยองขวัญและละครแนวสืบสวนสอบสวนตามลำดับ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบความนิยมระหว่างการรับชมละครโทรทัศน์ของไทยกับของต่างชาตินั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.93 ระบุว่านิยมรับชมทั้ง 2 อย่าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.9 ระบุว่าตนเองนิยมรับชมละครโทรทัศน์ของต่างชาติมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.17 ระบุว่านิยมรับชมละครโทรทัศน์ของไทยมากกว่า ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างละครโทรทัศน์ไทยกับละครโทรทัศน์ต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ใต้หวัน กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.92 มีความคิดเห็นว่าละครจากทั้ง 2 ที่มีการถ่ายทอดเนื้อหา/ดำเนินเรื่องที่น่าสนใจเท่าๆกัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.81 ยอมรับว่าละครจากต่างประเทศมีความน่าสนใจมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.27 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ไทยมีความน่าสนใจมากกว่า ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับละครโทรทัศน์ในปัจจุบันนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.27 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องมีตัวแสดงที่เป็น “ตัวอิจฉา” ประกอบ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.53 คิดว่าจำเป็น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.85 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ที่มีการนำเสนอกันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่ไม่ได้ให้สาระประโยชน์ต่อสังคม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.46 ระบุว่ามีประมาณครึ่งหนึ่งที่ให้สาระประโยชน์ต่อสังคม ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.76 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ที่นำเสนออยู่ในปัจจุบันมีอิฐธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.97 มีความคิดเห็นว่าไม่มีอิฐธิพล และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.87 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ในปัจจุบันมีส่วนทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมค่านิยมทางความคิดและการปฏิบัติได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.44 มีความคิดเห็นว่าละครโทรทัศน์ที่นำเสนออยู่ในปัจจุบันซึ่งมีแนวการดำเนินเรื่องประเภท นางเอกเป็นผู้อ่อนแอ/ถูกกระทำ ตัวอิจฉามีบทบาทสำคัญ พระเอก/นางเอกต้องการแก้แค้น มีความรุนแรงในครอบครัว มีความแค้นระหว่างรุ่นสู่รุ่น นั้นมีมากเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.85 คิดว่ามีไม่มากเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.71 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.98 มีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับละครโทรทัศน์ที่นำเสนออยู่ในปัจจุบันซึ่งมีแนวการดำเนินเรื่องประเภท นางเอกเป็นผู้อ่อนแอ/ถูกกระทำ ตัวอิจฉามีบทบาทสำคัญ พระเอก/นางเอกต้องการแก้แค้น มีความรุนแรงในครอบครัว มีความแค้นระหว่างรุ่นสู่รุ่น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.05 ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.97 ไม่แน่ใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ