กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--โฟร์ พี.แอดส์
สำนักโรคติดต่อทั่วไป ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช และ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การถ่ายทอดแนวทางรณรงค์โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานตามแนวทางการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-50ปี การเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีน การเบิกวัคซีน และการจัดทำรายงานผลการการให้บริการ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยมี นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ให้เกียรติเป็นประธาน
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคคอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ และจากพิษของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้
เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้น โดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ติดต่อกันได้ง่ายโดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การเอาของเล่นใส่ปาก การรับประทานอาหารร่วมกันเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อได้ตั้งแต่เล็ก หลังจากภูมิต้านทานจากแม่ลดลง ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน อาจจะนานกว่านี้ได้ เชื้อจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือนได้ ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่เชื้อจะหมดไป ภายใน 1 สัปดาห์
โรคคอตีบสามารถเกิดได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก สาเหตุเกิดจากการที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ ในปี 2555 ได้มีการระบาดของโรคคอตีบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง มีผู้ป่วยยืนยันโรคคอตีบรวมจำนวน 54 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขประเมินความเสี่ยงของการระบาดด้วยโรคคอตีบในกลุ่มนี้พบว่าเกิดจากการที่ประชาชนยังไม่มีภูมิต้านทานโรคหรือมีภูมิคุ้มกันโรคแต่อยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนหรือเกิดในช่วงต้นของแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ ซึ่งมักเป็นกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นหรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร นอกจากนี้ มีผลการศึกษาหลายแห่งให้ผลตรงกันว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบในประชากรไทยกลุ่มอายุ ต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลงในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุประมาณ 20 ปี ถึง 50 ปี (ผู้ที่เกิดระหว่างมกราคม 2508 - ถึง ธันวาคม 25328 ) ทำให้ต้องรณรงค์ให้วัคซีนคอตีบเพื่อควบคุมโรคทั่วประเทศเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบในผู้ใหญ่ ทั้งบุคคลชาวไทยและชาวต่างชาติทุกคน คนละ 1 ครั้ง โดยเริ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคแรก ภายในเดือนธันวาคม 2557 และขยายครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 เมษายน ณ สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ฟรี
การให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด วัคซีนตามเกณฑ์จะกำหนดไว้ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา พบการระบาดของโรคคอตีบในเด็กอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำ
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคคอตีบเริ่มมีสัญญาณการกลับมาระบาดอีกครั้ง จึงต้องมีการรณรงค์ให้วัคซีนเพื่อเพิ่มระดับความคุ้มกันของผู้ใหญ่ให้อยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อการป้องกันโรคได้ โดยกระทรวง-สาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เริ่มให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ผู้ใหญ่อายุ ๒๐-๕๐ ปี ทุกคน ๑ เข็ม ทั่วประเทศ โดยวัคซีนที่ใช้ในการรณรงค์ครั้งนี้ เป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยักอยู่ในเข็มเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคคอตีบ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422