กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--วารสารการเงินธนาคาร
คณะกรรมการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี มีมติเอกฉันท์ ตัดสินให้ บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ครองตำแหน่ง “นักการเงินแห่งปี 2557” ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน และโดดเด่นในการสร้างมาตรฐานใหม่ในการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร สร้างความแตกต่างในตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
คณะกรรมการตัดสินรางวัล “นักการเงินแห่งปี” ของ วารสาร การเงินธนาคาร ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ มอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” ประจำปี 2557 (Financier of the Year 2014) ให้กับ บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง ด้วยผลงานที่โดดเด่น มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจธนาคารโดยรวมเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าและผู้บริโภค ทำให้องค์กรเติบโตมีความก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วน จึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ
รางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้บริหารในตลาดเงิน ตลาดทุน ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ครบถ้วน และมีผลงานโดดเด่น โดย การเงินธนาคาร ริเริ่มรางวัลเกียรติยศ “นายธนาคารแห่งปี” มาตั้งแต่ปี 2525 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรางวัล “นักการเงินแห่งปี” ต่อเนื่องติดต่อกันมาถึง 32 ปี เพื่อยกย่องนักการเงินที่มีความโดดเด่นในแวดวงการเงินการธนาคารตลอดมา ด้วยการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการติดตามผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการธนาคารและการเงิน โดยยึดหลักเกณฑ์การพิจารณานักการเงินแห่งปี ใน 4 ด้านที่ การเงินธนาคาร กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี
1. เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย
บุญทักษ์ ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงมีผลให้ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้าได้อย่างแท้จริง และพัฒนาไปสู่ธนาคารแห่งการทำธุรกรรม หรือ Transactional Bank แล้ว ยังเป็นการปฏิบัติวงการธนาคารไทยและมีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายตัวของธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศไทยอีกด้วย
บุญทักษ์ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากธนาคารอื่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จนกลายเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการในวงการของธนาคาร กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในระบบธนาคาร เช่น บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step up) รวมไปถึง TMB No-Slip ที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมฝาก ถอน และโอนเงิน โดยไม่ต้องกรอกเอกสาร
นอกจากนี้ ยังเปิดตัว ME by TMB ซึ่งเป็น Self-Service Banking ธนาคารรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเอง ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบความปลอดภัยสูง รวมทั้งได้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม ฝาก ถอน โอนเงินสดข้ามเขตภายในบัญชี TMB และฝากเช็คทุกธนาคารเข้าบัญชี TMB ผ่านทุกช่องทางการบริการ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดวงเงิน ไม่มีเงื่อนไขปลีกย่อย สำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ
2. เป็นนักการเงินมืออาชีพ ที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
การที่ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารทหารไทยแตกต่างจากธนาคารอื่นในตลาดอย่างกว้างขวาง และยังเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เกิดขึ้นจากความเข้าใจชีวิตลูกค้าในทุกกลุ่ม (Segment) เพราะบุญทักษ์สนับสนุนให้พนักงานของธนาคารทดลองใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารทุกขั้นตอน เพื่อให้มีประสบการณ์ตรง ที่จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้ดีขึ้น ลดเวลาและขั้นตอนทำธุรกรรม ให้สั้นกระชับ สะดวกขึ้น
บุญทักษ์ได้ทำให้พนักงานทุกฝ่ายเห็นความเชื่อมโยงของงานตัวเองกับความพึงพอใจของลูกค้า ผ่านกระบวนการทำงานที่เรียกว่า ห่วงโซ่คุณภาพ “Value Chain” เพราะพนักงานทั้ง Front Office และ Back Office ต้องทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกัน ที่สำคัญได้สร้างกระบวนการทำงานที่แข็งแกร่งในระดับที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร (TMB Way) ทำให้คนอยู่รวมกันได้ เป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากคนของธนาคารทหารไทยมาจากการรวมตัวของสถาบันการเงิน 3 แห่งของไทยคือ ธนาคารทหารไทย ซึ่งเป็นแกนหลัก ควบรวมเข้ากับ ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547
3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร
บุญทักษ์ได้สร้างรากฐานให้ธนาคารทหารไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถขยายฐานลูกค้าที่มีคุณภาพได้ รวมทั้งยังเพิ่มส่วนแบ่งการใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และเดินหน้าสู่เป้าหมายการทำอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : RoE) ในระดับ 14% ในปี 2557 โดยเริ่มต้นจากการพลิกมาเป็นกำไรในปี 2551 จากขาดทุน 43,677 ล้านบาท ในปี 2550
ปี 2553 ธนาคารทหารไทยสามารถล้างผลขาดทุนสะสมจำนวน 101,600 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกไปได้ ทำให้งบการเงินของธนาคารแข็งแรงขึ้นและอยู่ในสถานะที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในปี 2554 เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี และปี 2555 ธนาคารทหารไทยมีผลกำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนตั้งสำรองถึง 10,445 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินงานกว่า 56 ปีของธนาคาร
ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมมีจำนวน 66,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,906 ล้านบาท หรือ 7.9% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ธนาคารมีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) 18.5% โดยเงินกองทุนชั้น ที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนชั้น ที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับ 11.1%
4. เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
บุญทักษ์ได้ริเริ่มโครงการแห่งการให้ ที่ยั่งยืนของ TMB เพื่อเยาวชน โดยเปิดโครงการ “ไฟ-ฟ้า” แห่งแรกบนถนนประดิพัทธ์ ในปี 2553 มุ่งมอบโอกาสและปลูกฝังให้เยาวชนในชุมชนที่มีอายุ 12-17 ปี ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ เพื่อปูพื้นฐานในด้านอาชีพผ่านทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่จะยืนอยู่ในสังคมอย่างมั่นคงด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง มีทัศนคติในเชิงบวกในการดำเนินชีวิต เมื่อเติบโตขึ้น ก็จะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์มาสู่ครอบครัว ตลอดจนชุมชนของตนเองและสู่สังคมต่อไป
นับตั้งแต่เปิดโครงการ จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการไฟ-ฟ้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2553 ที่มีเยาวชนสมาชิกโครงการ 150 คน ในปี 2557 มีเยาวชนสมาชิกโครงการรวมทั้งสิ้น 2,057 คน และมีพนักงานทีเอ็มบี ที่ร่วมเป็นอาสาสมัครกับไฟ-ฟ้าแล้ว มากกว่า 3,500 คน จากสำนักงานใหญ่ และ 380 สาขาทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 83.15 ของจำนวนสาขาทั้งหมด
บุญทักษ์ยังผลักดันให้ แบรนด์ Make THE Difference มีบทบาทในการรณรงค์สร้างแรงบันดาลใจให้สาธารณชนทั่วไปคิดและทำในสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่าในชีวิต จึงได้สร้างเว็บไซต์ขึ้นในชื่อ www.makeTHEdifference.org ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสมีส่วนร่วมในการใช้พลังในการสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น