กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สำนักเลขาธิการ BRIA ภูมิภาค
ทีมเกษตรกรจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับการลงคะแนนเสียง ให้เป็น ผู้ชนะเลิศ ในรายการแข่งขันเรียลลิตี้ทางทีวี "เกษตรกรรักความปลอดภัย" ซึ่งให้สาระความรู้สอดแทรกความบันเทิง ในตอนสุดท้ายของรายการ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนชาวนา ในบริเวณกรมการข้าว โดยจะออกอากาศ ในช่วงเวลา 17:30 น - 18:00 น ของวันที่18 ธันวาคม 2557 รายการแข่งขันเรียลลิตี้ทางทีวีนี้เป็นความคิดริเริ่มโดย Better Rice Initiative Asia ซึ่งอยู่ภายใต้ องค์การอาหารเยอรมัน (German Food Partnership หรือ GFP) บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด และ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทีมอยุธยา ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศ ด้วยการลงคะแนนเสียง จากผู้เข้าร่วมในพิธีปิดและมอบรางวัล ที่ได้รับเชิญมาจากหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชน ที่ร่วมให้การสนับสนุน รวมทั้ง นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว ที่ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี และ ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ทีมสุพรรณบุรีเป็นทีมรองชนะเลิศ
ทั้งสองทีมแสดงความเห็นว่า การแข่งขันทางโทรทัศน์นี้ เป็นรายการที่มีประโยชน์ ที่นำความรู้มาสู่เกษตรกร ในฐานะที่เป็นผู้ฝึกอบรม เกษตรกรที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ จากผู้เชี่ยวชาญ และยินดีที่ได้แบ่งปันความรู้นั้น โดยผนวกกับประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อช่วยทำให้เกษตรกรในชุมชน เข้าใจวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืชอย่างถูกต้อง และปลอดภัย ได้อย่างง่ายๆ
"ความรู้ ที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับติดตัว เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากจะช่วยเพิ่มผลผลิต ปกป้องสุขภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ รางวัลที่ได้รับควรจะถือว่าเป็นผลพลอยได้" ดร. อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย กล่าวต่อทั้งสองทีม
ความท้าทายอย่างหนึ่งที่สำคัญ ในการผลิตข้าวไทย ยังคงเป็นเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช อย่างไม่ถูกต้อง และการใช้ในปริมาณเกินความจำเป็นของเกษตรกร การใช้ปัจจัยการผลิตเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รายการนี้เป็นการริเริ่มเพื่อสร้างความตระหนักในปัญหานี้ ส่วนหนึ่งของแนวคิดของรายการนี้คือ เกษตรกรที่เข้าร่วม จะดำเนินการฝึกอบรมภายในชุมชนของตน โดยการโน้มน้าว และเข้าถึงเพื่อนเกษตรกรจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ ในขั้นต้นรู้สึกลังเลที่จะเข้าร่วมการฝึกอบรม ด้วยวิธีนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมได้ในระหว่างรายการโทรทัศน์นี้ จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมในทางลึกต่อไป
"การอารักขาพืช เป็นปัจจัยหนึ่งในการทำการเกษตร นอกเหนือจากเทคโนโลยีทางด้านเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว 'เกษตรกรรักความปลอดภัย' นับเป็นกิจกรรมแรก ในการรณรงค์ ซึ่งมุ่งเน้นที่ความรู้ขั้นพื้นฐาน ของการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช อย่างปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ เรารู้สึกยินดีที่เกษตรกร เต็มใจที่จะรับและแบ่งปันข้อมูล ที่ถ่ายทอดโดย เพื่อนเกษตรกรของพวกเขา" ดร. ปกรณ์ สุจเร ผู้อำนวยการ แผนกอารักขาพืช บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด กล่าว
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการ BRIA ภูมิภาค อธิบายว่า รายการทางทีวีนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของ BRIA ในประเทศไทย ซึ่งเน้นการสร้างความตระหนักในการผลิตอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง พร้อมให้ความรู้แก่เกษตรกร เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบ เราจะนำเสนอความรู้เพิ่มเติม ในเชิงลึกและขั้นสูง ที่จำเป็นต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมด้วยความคิดริเริ่มที่หลากหลาย ในปีต่อๆไป
รายการบันเทิงสอดแทรกความรู้ “เกษตรกรรักความปลอดภัย” เป็นรายการที่นำเสนอ การแข่งขันระหว่างเกษตรกร จำนวน 2 ทีม ๆ ละ 5 คน จากจังหวัดสุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา ในการถ่ายทอดความรู้ และสร้างความตระหนักในการใช้ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ได้อย่างปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ภายในชุมชนของตนเอง โดยออกอากาศในรายการ ‘เกษตรกรยิ้ม’ ทางช่อง ‘ฟาร์มแชนแนล’ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่เกษตรกร ในทุกวันพฤหัสบดี เวลา 17.30 - 18.00 น ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม จนถึง 18 ธันวาคม 2557
เกี่ยวกับ GFP และ BRIA
GFP เป็นความคิดริเริ่มภาครัฐและเอกชน มีวัตถุประสงค์ เพื่อการลดความหิวโหย และความยากจน ในเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ปัจจุบัน GFP ประกอบด้วย กว่า 30 บริษัท ขนาดกลางและข้ามชาติของยุโรป สมาคม และหน่วยงานการดำเนินการของความร่วมมือในการพัฒนาของเยอรมัน GFP ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2555 ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ Deutsche Gesellschaft für Zusammenarbeit (GIZ) ทำหน้าที่ประสานงานกิจกรรมของ GFP ในนามของ BMZ
BRIA อยู่ภายใต้ GFP, BRIA ช่วยพัฒนาการผลิตข้าวและโภชนาการข้าว โดยการใช้วิธีการแบบองค์รวมห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเสริมสร้างรายได้ของผู้ผลิตและโภชนาการของครอบครัวเกษตรกรผู้ยากจน ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมการให้บริการทางการเกษตร จะช่วยเพิ่มระดับการผลิตในการเพาะปลูกข้าว BRIA จะช่วยให้ประเทศ ที่โครงการดำเนินอยู่ บรรลุการพัฒนาทางภาคเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทั้งนี้ BRIA มีการดำเนินการในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์