กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการประกวดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ "ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2014" ภายใต้แนวคิด"คิด(ส์) กระหึ่มโลก" โดยผู้ชนะ ได้แก่ ด.ช. ธราดล เทียนประสิทธิ์ (แถวหน้าที่ 3 จากขวา) อายุ 11 ปี จากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เจ้าของผลงาน "เครื่องดูดแว๊นซ์" รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ด.ช. วรินทร เชาอนาจิณ (แถวหน้าที่ 2 จากขวา) จากโรงเรียนรุ่งอรุณ ผลงาน "ชิปเปลี่ยนใจโจร" รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ด.ญ. จันธิมา วงษ์กิ่งแก้ว (แถวหน้าที่ 4 จากขวา) จากโรงเรียนวัฒนพฤกษา ผลงาน "องครักษ์พิทักษ์เด็ก" และรางวัลเกียรติยศอีก 3 รางวัล รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล โดยผู้ชนะทั้ง 6 คนจะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปเปิดประสบการณ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในค่ายเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น "ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คิดส์" พร้อมเยี่ยมชมอาณาจักรฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ และสำนักงานใหญ่ ฮอนด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น
โครงการฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยที่ฮอนด้าริเริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศส่งผลงานร่วมประกวดจำนวน 326,870 ผลงาน จากกว่า 2,000 โรงเรียน สำหรับโครงการฯ ในปีนี้มีเยาวชนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดถึง 10,539 ผลงาน
นางอรนุช พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้จัดการส่วนงานสนับสนุนการตลาด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ฮอนด้ามุ่งหวังที่จะพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าแสดงออก เพื่อเติบโตเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม จึงได้จัดกิจกรรมประกวดความคิดสร้างสรรค์ "ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์" พร้อมกับการพัฒนาเพื่อยกระดับโครงการฯ ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ สำหรับไฮไลท์ในปีนี้ โครงการฯ ได้พลิกโฉมการประกวดไอเดียของเยาวชนที่ผ่านรายการโทรทัศน์ Super Idea คิด(ส์) กระหึ่มโลก ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ในระบบ Digital TV เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเยาวชนที่ผ่านเข้ามาในแต่ละรอบจะต้องใช้พลังจินตนาการเพื่อคิดค้นไอเดียใหม่ ๆ กับโจทย์การแข่งขันที่ท้าทาย และเปลี่ยนไปในแต่ละรอบ ทั้งยังต้องสามารถถ่ายทอดความคิด การโต้ตอบคำถามแก่กรรมการในรายการแบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับเยาวชนอย่างยิ่ง ท้ายนี้ ฮอนด้าจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการฯ นี้ ตามเจตนารมณ์ในการปลูกฝังพลังแห่งความฝัน (The Power of Dreams) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่เยาวชนไทยมุ่งมั่นก้าวตามฝันของตนเองอย่างไม่ย่อท้อตลอดไป"
ด.ช. ธราดล เทียนประสิทธิ์ (ไตเติ้ล) อายุ 11 ปี จากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ผู้ชนะเลิศโครงการในปีนี้ เจ้าของไอเดียสิ่งประดิษฐ์แปลกแหวกแนวอย่าง “เครื่องดูดแว๊นซ์” ที่มีแรงบันดาลใจจากปัญหาเด็กแว๊นซ์ที่ชอบแข่งรถ
ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นในเวลากลางคืน ทำให้เกิดเครื่องดูดแวนซ์ขึ้นมาเพื่อตรวจจับเด็กแว๊นซ์จากเสียงและความเร็ว เครื่องนี้จะตรวจจับความเร็วและปล่อยพลังแม่เหล็กไปที่รถมอเตอร์ไซต์เพื่อดูดเด็กแว๊นซ์ให้อยู่กับที่พร้อมทั้งอัดเสียงท่อใส่วัตถุทรงกลมและยิงใส่หูเด็กแว๊นซ์ให้ได้ยินเสียงแว๊นซ์ของตัวเอง จากนั้นจะยิงวัตถุเพื่ออุดท่อรถไว้เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังรบกวนและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อส่งตำรวจ เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องตื่นตอนกลางคืนเพราะเสียงจากเด็กแว๊นซ์อีกต่อไป
ด.ช. วรินทร เชาอนาจิณ (น้องพจ) อายุ 12 ปี จากโรงเรียนรุ่งอรุณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กับไอเดีย
"ชิปเปลี่ยนใจโจร" หลาย ๆ ครั้งที่คนเรากระทำความผิดนั้นมักเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ ขาดสติ สิ่งประดิษฐ์นี้จะมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของสมองในด้านอารมณ์ โดยชิปนี้จะถูกฝังอยู่ตัวนักโทษผู้ ทำหน้าที่ควบคุมต่อมไร้ท่อที่ทำงานในส่วนของการหลั่งฮอร์โมนความรู้สึกต่าง ๆ สามารถปรับลดปริมาณของฮอร์โมนที่จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีต่าง ๆ ให้ลดน้อยลงไป บุคคลปกติหรือผู้ต้องหาที่ยังรอคำตัดสินก็สามารถใส่เป็นสร้อยพระ หรือชิปที่อยู่ในรูปทรงของเครื่องรางประจำศาสนาต่าง ๆ ทดแทนได้ เพียงเท่านี้ คนที่ทำความผิดเพราะอารมณ์เพียงชั่ววูบก็จะลดลงและหมดไปอย่างแน่นอน"
ด.ญ. จันธิมา วงษ์กิ่งแก้ว (เฟิร์น) อายุ 10 ปี จากโรงเรียนวัฒนพฤกษา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
พูดถึงแรงบันดาลใจในการคิดประดิษฐ์ “องครักษ์พิทักษ์เด็ก” ว่า “ในอนาคตเด็ก ๆ จะมีภัยรอบตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานจนไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก หนูจึงได้คิดสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องช่วยดูแลเด็กในช่วงที่ผู้ปกครองไม่อยู่ โดยนาฬิกาเรือนนี้จะมีข้อมูลของคนร้ายซึ่งมาจากกรมตำรวจ และเมื่อตรวจพบว่าคนที่เข้ามาใกล้ตัวเด็กเป็นคนร้าย ตัวนาฬิกาจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังสถานีตำรวจ และทำการพรางตัวเด็กให้กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยิงตาข่ายจับคนร้ายที่ยิ่งดิ้นก็ยิ่งรัดตัวแน่นขึ้น เพียงเท่านี้ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเป็นห่วงเด็ก ๆ ทุกครั้งที่ต้องไปทำงานอีกต่อไปแล้ว”