กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายในการสัมมนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ ปี 2558” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดทำ Road Map สำหรับรองรับการดำเนินงานตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการทำงาน โดยให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย อธิบดีกรม เลขาธิการสำนักงาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการจากทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,100 คน สำหรับการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตอย่างทั่วถึง การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนถึงการใช้กลไกตลาดดูแลราคาสินค้าเกษตร ประเภทที่ราคาต่ำผิดปกติให้สูงขึ้นตามสมควร การลดอุปสรรคในการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เช่น การปรับปรุงวิธีการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้า และมาตรฐานการผลิตระดับไร่นา เป็นต้น ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ตลอดจนลดขั้นตอนของกระบวนการด้านธุรการและเอกสาร ที่จะช่วยให้ระบบส่งสินค้าเร็วขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อขยายฐานการส่งออก ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าชายแดนที่มีความสำคัญมากขึ้น ด้านการเกษตรกรรม ดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่ คือการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การแบ่งเขตเพื่อปลูกพืชผลแต่ละชนิด และการสนับสนุนให้สหกรณ์ของกลุ่มเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผลจนถึงการแปรรูปและการส่งออก เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่อีกรายหนึ่ง ซึ่งจะช่วยคานอำนาจของกลุ่มพ่อค้าเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความสมดุลมากขึ้น
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การที่จะดำเนินการนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งในปี 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนงาน 4 แผนงาน ในการดำเนินงานตามนโยบาย คือ
1) แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิต
2) แผนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์
3) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ดิน และที่ดิน
4) แผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ซึ่งทุกแผนงานจะมีการบูรณาการงานเข้าด้วยกัน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำ ดิน การพัฒนาการผลิต การเพิ่มศักยภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า การลดต้นทุนการผลิต และยังรวมถึงการเชื่อมโยงตลาด การหาแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ยังรวมถึงด้านโครงสร้างการผลิต เช่น การปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ในเรื่องหนี้สินเกษตรกร การออกกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือ และการปรับปรุงข้อมูลด้านการเกษตร