กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึง แนวนโยบายการดำเนินงานตามโรดแมพ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาล ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการที่ทันสมัย นั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนงานด้านดังกล่าว พร้อมที่จะเป็นข้อต่อให้ทุกกระทรวงเพื่อเป็นพลังร่วม ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา จึงได้จัดทำ โรดแมพ สำหรับการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศโดย ใน 6 แผนงานหลักดังนี้คือ
แผนงานแรก คือ การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D CENTER) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัย เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย สร้างโอกาสทางอาชีพให้กับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากฐานการผลิตที่อาศัยแรงงานราคาถูก มาเป็นฐานการผลิตที่ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
แผนงานที่ 2. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะให้การสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega-Projects) ประกอบด้วย การพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีระบบราง การสนับสนุนการจัดตั้ง Rubber City โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากำลังคน และเพิ่มมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมยางพารา การจัดตั้งเมืองนวัตกรรมด้านอาหาร หรือ Food Innopolis ฯลฯ อันนำไปสู่ความเป็นอิสระด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของคนไทย การเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรไทย และ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ
แผนงานที่ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ด้วย One-stop Service ด้านการวัดและวิเคราะห์ มาตรฐานและคุณภาพ การบริการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมสังคมสีเขียว เทคโนโลยีสีเขียว การลดกำแพงทางการค้า การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไทย
แผนงานที่ 4. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั่วประเทศ ให้เข้าถึง วทน.ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐานแข่งขันได้ การสร้างโอกาสให้ SMEs เข้าถึงกองทุนวิจัยและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐ
สำหรับแผนงานที่ 5. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น เช่น การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ สนับสนุนให้เกิดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หอดูดาว ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ การเพาะปลูกอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการควบคุมการเพาะปลูก การสร้างสมาคมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจแก่ภาครัฐ การจัดตั้งสถาบันนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เป็นต้น
สำหรับแผนสุดท้ายคือ แผนงานที่ 6 นั้น จะเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยผลักดันนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ ปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารจัดการด้าน วทน.ของประเทศ ผลักดันให้มีการจัดทำกรอบงบประมาณราย 5 ปี เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้ วทน. ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรและบริหารจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าและยั่งยืน รวมถึงการยกระดับศูนย์วิจัยต่างๆ ทั่วประเทศ
“ โรดแมพทั้ง 6 แผนงาน ตามที่ได้กล่าวข้างต้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมที่จะเป็น “ข้อต่อ” ของทุกกระทรวงเพื่อเดินสู่เป้าหมายเดียวกันคือปฏิรูปประเทศไทย และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.พิเชฐ กล่าวย้ำ