กรุงเทพ--28 ส.ค.--สตาร์ครูซ
สตาร์ครูซ ชูวิสัยทัศน์ "มุ่งพัฒนาและยกระดับธุรกิจของการท่องเที่ยวทางการเดินเรือสมุทร เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในย่านเอเชียอาคเนย์ พร้อมย้ำท่าเรือท่องเที่ยวภูเก็ต คือหนึ่งในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของภูมิภาคนี้
MR. COLIN AU กรรมการผู้จัดการบริษัท สตาร์ครูซ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ยื่นเสนอขอดำเนินธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญท่องเที่ยวภูเก็ต (Star Cruise Terminal and Associated Tourist Facilities) ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนบนเรือ SuperStar Gemini ในระหว่างการเยี่ยมชมท่าเรือ และธุรกิจเรือสำราญ (พอร์ตกลัง-ลังกาวี-ภูเก็ต) ว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับธุรกิจการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยบริษัทกำลังสั่งต่อเรือเดินสมุทรระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีระวางขับน้ำขนาด 74,000 ตัน รองรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 3,000 คน ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 1998 ภายใต้ชื่อ "SuperStar Leo" ในขณะเดียวกันได้พัฒนาประสิทธิภาพการบริการให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ก็เพราะได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และชาวเอเชียด้วยกันมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับในภูมิภาคนี้มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมชุมชนที่ยาวนาน มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมทั้งภัตตาคาร และแหล่งช็อปปิ้งให้เลือกใช้บริการได้ตามความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติและกล่าวได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ เป็นการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดขึ้นมาใหม่และเป็นการขยายช่องทาง และสร้างการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้
จากอดีตที่ผ่านมา ภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงในแถบทะเลอันดามัน เป็นสถานที่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวของเรือสำราญเป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านจังหวัดภูเก็ตมากถึง 1 ล้านคน/ปี โดยคาดว่านักท่องเที่ยวดังกล่าวจะใช้จ่ายเงินในระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงอย่างน้อยประมาณ 3,000 บาท/คน/ครั้ง รวมเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศไทยจะได้รับทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งหากท่าเรือท่องเที่ยวของบริษัทเสร็จเรียบร้อย นอกจากเรือสำราญของบริษัทแล้วยังมีเรือสำราญของบริษัทนานาชาติอื่น ๆ เข้ามาที่ภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตถูกสร้างขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ในการรองรับเรือทุกประเภท ทั้งเรือสินค้า เรือโดยสารและเรือประมง
ตลอดจนมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของร่องน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการจอดเรือสำราญขนาดระวางขับน้ำกว่า 70,000 ตันได้ ทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีข้อจำกัดในการให้บริการแก่เรือสำราญขนาดใหญ่ ประกอบกับในด้านความปลอดภัยแล้วท่าเรือท่องเที่ยวควรแยกออกจากท่าเรือสินค้าหรือเรือประมง และจะต้องจัดให้มีบริการการจัดการและอุปกรณ์ที่แตกต่างวัตถุประสงค์กัน ด้วยเหตุผลข้างต้น บริษัทฯ จึงได้เสนอเรื่องต่อกรมเจ้าท่าในการขอสร้างท่าเทียบเรือขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาคำขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือของฝ่ายราชการนั้น บริษัท ยินดีที่จะปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากขาดสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว บริษัทฯ ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวก็ไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้เช่นกัน นอกจากนี้บริษัทยังคำนึงถึงสิทธิของชุมชนบริเวณท่าเรือ และธุรกิจใกล้เคียง และอยากกล่าวย้ำให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของบริษัทว่า บริษัทมีความตั้งใจจริงในการยกระดับ และพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามันของไทยให้อยู่ในชั้นมาตรฐานสากล
นอกจากผลประโยชน์โดยตรงที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่มีท่าเรือท่องเที่ยวนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมแก่เกษตรกรในภูมิภาคดังกล่าว กล่าวคือ เกษตรกรสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายให้แก่บริษัทเจ้าของเรือ เพื่อซื้อเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารบนเรือ ซึ่งในการเดินเรือในแต่ละเที่ยวนั้นจะต้องใช้อาหารจำนวนมาก ซึ่งเรียกว่าเป็นการเพิ่มความต้องการของตลาดในด้านเกษตรกรรมอีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของการตอบแทนผลประโยชน์ให้กับองค์กรท้องถิ่นนั้น นอกจากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่บริษัทจะต้องจ่ายให้แก่ทางจังหวัดภูเก็ตแล้ว บริษัทยินดีที่จะจัดสรรรายได้จากค่าธรรมเนียมในการใช้ท่าเทียบเรือให้กับจังหวัดภูเก็ตในอัตรา 5 บาท/คน และได้จัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมให้ชาวบ้านเข้ามาขายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ แต่ทั้งนี้บุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ และข้อบังคับของบริษัทในเรื่องความปลอดภัยและความสะอาดต่อไป ซึ่งบริษัทจะยื่นเป็นหนังสือยืนยันถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป MR. COLIN AU กล่าวย้ำในที่สุด
สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติม บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด คุณกล้วยไม้ นุชนิยม โทร. 731-3756, 731-3820-1 --จบ--