กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--พีทีที โกลบอล เคมิคอล
ความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยพิบัติดินโคลนถล่มที่มักจะเกิดขึ้นตามเชิงเขา เนื่องจากฝนที่ตกหนัก ทำให้น้ำจากภูเขาไหลบ่าพัดเอาดินเอาโคลนถล่มลงมา หรือบางครั้งเกิดจากการตัดให้ทำลายป่าเมื่อฝนตกหนักทำให้เกิดดินถล่มได้ ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ดินถล่มได้มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำกินของชุมชนในหลากหลายพื้นที่ รวมถึงความสูญเสียบ้านเรือนและชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของโครงการตามแนวพระราชดำริ ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาธรณีภิบัติพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ
จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาพิบัติภัยดินถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกับบริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) / มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน /สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่จัดทำโครงการนี้ในตั้งแต่ระหว่างปี 2556-2558พร้อมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยและทดสอบการใช้กระสอบมีปีก ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรธรณีและมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนได้ทำการประยุกต์ใช้กระสอบมีปีกร่วมกับหญ้าแฝก วิธีกล และพืชอื่นๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินถล่มในหลายพื้นที่ในประเทศไทยโดยได้ดำเนินการมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดปี 2557 ได้วางแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการกัดเซาะและการพังทลายของดินให้แก่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติดินถล่มในภูมิภาคต่างๆ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่นั้นๆ ได้เรียนรู้กระบวนการในการดำเนินงานจากตัวอย่างจริง และสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติดินถล่มด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
และเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาดินถล่มบนที่สูงชันตามแนวพระราชดำริ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
“นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อปัญหาภัยพิบัติดินโคลนถล่ม โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกปีและส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการ จากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยรัฐจำเป็นต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจแก่ประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญในสนับสนุน โดยอาศัยศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จากต้นทุนทางอุตสาหกรรม ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องมือ ที่จะช่วยให้การแก้ไขและการรับมือกับปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน กล่าวว่า “เนื่องจากในปี 2554 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มในพื้นที่ มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดการดำเนินงาน 3 แผนงาน คือ แผนงานที่ 1 การศึกษาบริบทชุมชนและการฟื้นตัวของระบบนิเวศภายหลังดินถล่ม แผนงานที่ 2 การจัดทำแผนที่ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดิน และล่าสุดแผนงานที่ 3 การใช้กระสอบมีปีกในการป้องกันดินถล่มร่วมกับหญ้าแฝก วิธีกล และพืชอื่น ป้องกันความเสียหายบริเวณถนนเส้นทางเข้า-ออก เส้นทางเดียวของชุมชน
...ดังนั้นในการดำเนินงานชุมชนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีการนำ องค์ความรู้จากโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย – เมียนมาร์ ของ ปตท. มาใช้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ และผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”
ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานกลยุทธ์กิจการเพื่อสังคม บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงการสร้างความสมดุลระหว่างผู้คนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตควบคู่กัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตามนโยบายและพันธกิจขององค์กร ในเรื่อง ‘การพัฒนาสังคมที่มีความสุข อย่างยั่งยืน’
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น ในฐานะผู้ผลิต ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักตั้งต้นที่สำคัญ สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่หลากหลายในชีวิตประจำวัน บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จึงได้นำเอา นวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของบุคลากร มาใช้ในการคิดค้น ปรับปรุง พัฒนา และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
...กระสอบแบบมีปีก ใช้เม็ดพลาสติก InnoPlus ชนิด HDPE (High Density Polyethylene) หรือ พลาสติกโพลิเอธิลีนชนิดความหนาแน่นสูง ผสมกับพลาสติกชนิดโพลิโพรไพรีน ผลิตเป็นกระสอบแบบมีปีกด้วยเทคนิคการถักทอแบบไขว้และการเย็บแบบเข็มคู่พร้อมเติมสารป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเล็ตเพื่อให้ทนต่อแสงแดด ทำให้โครงสร้างของถุงกระสอบแบบมีปีก มีความเหนียว แข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ากระสอบทั่วไปและเมื่อวางเรียงกระสอบแบบมีปีกแล้วต้นไม้ยังสามารถหยั่งรากผ่านเส้นใยของกระสอบได้ เป็นการช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ชั้นดินโดยอาศัยกลไกลทางธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้กระสอบแบบมีปีกยังได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2555 อีกด้วย”
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยังคงเดินหน้าเพื่อมุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการ และส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง