กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
เคเอฟซี ผู้นำธุรกิจเชนร้านอาหารบริการด่วนของไทย ปลื้มโมเดลร้านไดร์ฟทรู ส่งผลกระแสตอบรับดี เปิดสาขารูปแบบไดรฟ์ทรู 6 แห่งภายในเดือนเดียว ส่งผลให้ภายในปี 2014 เปิดร้านรูปแบบไดรฟ์ทรู 10 สาขา ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็วและบริการ 24 ชม เน้นรูปแบบสแตนด์อะโลนนอกห้างสรรพสินค้า เตรียมทุ่มงบกว่า 1,700 ล้านบาทในปี 2015 ขยายเพิ่ม 55 สาขา แบ่งเป็นไดร์ฟทรู 15 สาขา และร้านเคเอฟซีภายในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า อีก 40 สาขา
นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเคเอฟซี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ในฐานะผู้นำของธุรกิจ QSR ซึ่งมีสาขาให้บริการมากที่สุดในปัจจุบันถึง 531 สาขาทั่วประเทศ เคเอฟซีมุ่งมั่นที่จะนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้าเสมอ ร้านรูปแบบสแตนด์อะโลนไดร์ฟทรู ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของแบรนด์ที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีวิถีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ หลายคนต้องการความสะดวกสบายในการขับรถเข้าไปซื้อสินค้าโดยไม่ต้องลงจากรถหรือเข้าไปซื้อในห้างสรรพสินค้า และหลายคนเลิกงานดึก ไม่สามารถรับประทานในห้างหรือร้านอาหารส่วนใหญ่ได้ทันเวลา สำหรับจุดเด่นของร้านเคเอฟซีไดรฟ์ทรู คือ เป็นร้านเคเอฟซีที่ให้บริการทุกเมนูเหมือนกับร้านทั่วไป แต่มีความพิเศษอยู่ที่ลูกค้าจะได้รับอาหารคุณภาพในเมนูที่หลากหลายอย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย โดยไม่จำเป็นต้องจอดรถลงไปต่อแถวเพื่อซื้ออาหาร ที่สำคัญร้านเคเอฟซีไดร์ฟทรู ส่วนใหญ่ยังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย จึงเป็นคำตอบสำหรับผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี”
นายธันยเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2014 เคเอฟซีเปิดร้านรูปแบบไดร์ฟทรูไปแล้วทั้งหมด 10 สาขา ได้แก่ สาขารังสิต-ปทุมธานี, สาขาเพียวเพลส ราชพฤกษ์, สาขาศรีนครินทร์, สาขาถนนนราธิวาสราชนครินทร์, สาขาเพชรเกษม เพาเวอร์ เซ็นเตอร์, สาขาเทสโก้โลตัส พัฒนาการ, สาขารามคำแหง, สาขาสุนีย์ พลาซ่า จังหวัดอุบลราชธานี, สาขาเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ และ สาขาถนนมหิดล จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้การลงทุนในรูปแบบสแตนด์อะโลน ใช้เนื้อที่และเงินลงทุนเฉลี่ยสูงกว่าร้านทั่วไป แต่ก็คุ้มค่าในแง่ของการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายรูปแบบ โดยเป็นการสร้างประสบการณ์แห่งความสุขให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งเน้นเปิดร้านในทำเลที่ใกล้ชิดชุมชน ซึ่งลูกค้าจะเป็นกลุ่มของครอบครัวหรือคนในเมืองใหญ่ที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเข้ามาซื้ออาหาร
“เคเอฟซีเชื่อว่า การเปิดสาขาแบบสแตนด์อะโลนจะผลักดันยอดการเติบโตของแบรนด์ให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับแผนการลงทุนขยายสาขาของแบรนด์เคเอฟซี ในปี 2015 จะใช้งบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ส่วนที่ 1 งบประมาณในการขยายสาขาใหม่ 55 สาขา จำนวน 1,550 ล้านบาท ในส่วนนี้เรามีแผนจะเปิดไดร์ฟทรูอีก 15 สาขา และส่วนที่ 2 งบประมาณในการปรับปรุงร้านเคเอฟซีทั่วประเทศอีก 150 ล้านบาท โดยเคเอฟซีมีเป้าหมายจะขยายสาขาในรูปแบบไดร์ฟทรูให้ครบ 100 สาขาภายในปี 2020” นายธันยเชษฐ์ กล่าว
นอกเหนือจากการขยายรูปแบบไดรฟ์ทรูเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้บริหารร้านอาหารบริการด่วนภายใต้แบรนด์ เคเอฟซี ยังมีเป้าหมายตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเน้นสร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารเพื่อให้อร่อยถูกปากคนไทย และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ โดยในช่วงปลายปีนี้เคเอฟซีมีโปรโมชั่นใหม่ๆ อาทิ โปรโมชั่น “เคเอฟซี ดิปอิน” นำเสนอซอสนานาชาติถึง 5 รส เสิร์ฟพร้อมไก่ทอด ไก่วิงซ์แซ่บ ไก่ไม่มีกระดูก เฟรนช์ฟรายส์ 1 กล่องและเป็ปซี่ 2 แก้ว โปรโมชั่นเริ่มตั้งแต่วันนี้ – 11 ม.ค. 2014 , โปรโมชั่น เบอร์เกอร์ปลา ชีสซี่ ราคาพิเศษเพียงชิ้นละ 65 บาท และชุดคอมโบ เบอร์เกอร์ปลาชีสซี่และเป๊ปซี่ 1 แก้ว ในราคาสุดคุ้มเพียง ชุดละ 69 บาท โปรโมชั่นพิเศษวันนี้ – 11 ม.ค.นี้ และโปรโมชั่นเมนูทานเล่น ET Festival 2014 (6+1) ซื้อทาร์ตไข่ รสชาติออริจินัลหรือช็อกโก้บานาน่า ครบ 6 ชิ้น รับฟรีทันที ทาร์ตไข่ช๊อกโก้บานาน่า 1 ชิ้น หมดเขต 11 ม.ค.นี้
นอกจากนี้จากผลวิจัยที่ทำการสำรวจโดย มิลวาร์ดบราวน์ประเทศไทย (MillwardBrown Thailand) ซึ่งเป็นตัวเลขอ้างอิงจากส่วนแบ่งของจำนวนการเข้าไปใช้บริการในร้านอาหารที่มีสาขาในระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา ระยะเวลาสำรวจข้อมูล: 6 มกราคม 2014 – 14 กันยายน 2014 จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 4,067 คน พบว่า ในไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2014 KFC ยังคงครองความเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 51% ของร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงหนัง หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย (Total chained restaurants in Thailand)