กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--พม.
พลตำรวจเอกสุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานในงานสมัชชา “สวัสดิการชุมชนคืนความสุขสู่ชุมชนเทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อนำเสนอผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดสวัสดิการชุมชนที่ผ่านมา และวางแผนขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการชุมชนในปี ๒๕๕๘ ตามยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชนปี ๒๕๕๗-๒๕๖๒ โดยมี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอกสุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ กล่าวว่า การจัดสวัสดิการชุมชนเป็นงานที่ริเริ่มจากชุมชนคิดค้นการจัดสวัสดิการ เพื่อให้คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชนบทและแรงงานนอกระบบในเมืองที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการในระบบประกันสังคม โดยเริ่มจากฐานทุนภายในชุมชนเป็นหลัก จนกระทั่งได้มีการสัมมนาเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศในปี ๒๕๔๖ จึงได้มีพัฒนาเรื่องนี้มาสู่นโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน รัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนงบประมาณสำหรับกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีอยู่เดิมและส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลให้เกิดกว้างขวางขึ้น ภายใต้อุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องมาทุกรัฐบาล เพื่อให้สวัสดิการชุมชนเป็นฐานในการสร้างหลักประกันความมั่นคง ของชุมชนฐานราก ฟื้นฟูทางสังคม สร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกพื้นที่สามารถจัดตั้ง และพัฒนาคุณภาพสวัสดิการชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงาน
ทั้งนี้ งานสมัชชา “สวัสดิการชุมชนสวัสดิการชุมชนคืนความสุขสู่ชุมชนเทิดไท้องค์ราชัน” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอ ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการจัดสวัสดิการชุมชนที่ผ่านมา วางแผนขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการชุมชนในปี ๒๕๕๘ ตามยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชนปี ๒๕๕๗-๒๕๖๒ ที่ได้จัดทำร่วมกัน ผลักดันให้สวัสดิการชุมชนเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาระบบสังคมสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความสุขของชุมชน ร่วมผลักดันให้บรรจุเรื่องสวัสดิการชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญและมีพระราชบัญญัติสวัสดิการชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจากทุกจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน รวมประมาณ ๑,๐๐๐ คน
พลตำรวจเอกสุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การจัดสวัสดิการชุมชน เป็นการริเริ่มจากชุมชนเองที่จะช่วยกันจัดสวัสดิการสำหรับคนในชุมชน ตามอุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” จนกระทั่งมีรัฐบาลได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ จนทำให้เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนกระจายทั่วประเทศจำนวน ๕,๘๗๔ กองทุน มีสมาชิกกองทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน ๔,๒๕๖,๕๒๗ ราย เงินกองทุนส่วนใหญ่มาจากทุนภายในชุมชนถึงร้อยละ ๖๔ หรือเป็นเงินจำนวน ๓,๙๐๗.๘๒ ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนใกล้ตัวที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถดูแลสวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และยกระดับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของคนในชุมชน การดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จของความร่วมมือ ร่วมใจระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ได้สนับสนุนงานพัฒนาที่องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักอีกหลายด้าน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงที่ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน ๘๙๕ โครงการ ๙๐,๘๐๘ ครัวเรือน ๑,๗๐๐ ชุมชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคูคลอง ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่เรื่องหนึ่งของกระทรวงฯที่จะมอบให้ประชาชน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบทจำนวน ๑,๕๒๗ ตำบล รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวน ๔,๔๕๓ สภา
พลตำรวจเอกสุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีความเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดสวัสดิการชุมชน จะทำให้เกิดการฟื้นฟูระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลและการดูแลซึ่งกันของคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย กลุ่มเป้าหมายต่างๆที่กระทรวงฯรับผิดชอบดูแล ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน จะมีระบบสวัสดิการชุมชนรองรับ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ให้เกิดระบบการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลที่ครอบคลุมทั่วถึงต่อไป