กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว งบดุลที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และผลงานของผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและอัตราการทำกำไรในระดับต่ำของกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ (Midstream Producer) โดยที่ภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลเพื่อรองรับวงจรธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้เช่นกัน
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นหนึ่งในผู้นำในการแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูป 23 แห่งในประเทศไทยและอีก 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,353,904 ตันต่อปี
บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทให้ผ่านวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงมาได้หลายครั้งโดยที่ยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมียอดจำหน่ายยางแปรรูปทั้งสิ้น 881,867 ตัน เพิ่มขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกเท่ากับ 10.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2553 บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 80% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเพียงประเภทเดียว แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 82% ของปริมาณขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 โดยมีลูกค้าหลักคือประเทศจีนซึ่งคิดเป็น 57% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด เป็นระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 5.3 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกปี 2557 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 1.70 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (1.61 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.39 ล้านตัน) ส่วนในด้านของการบริโภคนั้น ความต้องการยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 7.91 ล้านตันในปี 2546 มาอยู่ที่ 11.36 ล้านตันในปี 2556 โดยประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดคิดเป็น 36% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 จะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.80 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 โดยเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเนื่องมาจากปริมาณความต้องการยางล้อของผู้ผลิตยางล้อในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก
อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 96%-98% ของต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตยางแปรรูปแต่ละราย ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ ดังนั้น กำไรและกระแสเงินสดของผู้ประกอบการจึงมีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 0.72%-3.79% ในระหว่างปี 2551-2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 การลดลงของราคายางธรรมชาติกดดันให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 0.64% เมื่อเทียบกับ 2.49% ในช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งการลดลงของราคายางธรรมชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 เกิดจากปริมาณความต้องการยางธรรมชาติที่เติบโตในอัตราช้าลงเพียง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติจากประเทศผู้ผลิตหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบริษัทจะมีปริมาณขายเพิ่มขึ้น 8.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มาอยู่ที่ 881,867 ตัน แต่รายได้รวมของบริษัทกลับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57,987 ล้านบาท หรือลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 อันเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ที่ลดลง 20% รายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลงส่งผลทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอยู่ที่ 1,839 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งลดลง 35.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
งบดุลของบริษัทค่อนข้างแข็งแรง หนี้เงินกู้รวมของบริษัทลดลงเป็น 12,694 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จากเดิมที่ 19,547 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.54% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 49.34% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เนื่องมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงและการลงทุนของบริษัทที่มีจำนวนไม่มาก ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วงธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เท่ากับ 3.75 เท่า ใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2556 ที่ระดับ 3.71 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 18.05% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับ 16.46% ในปี 2556
ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500-4,000 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ในการสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้สมมติฐานกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายระดับ 3,000-
3,500 ล้านบาทต่อปีแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะมีเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนของบริษัท
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
STA16DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
STA162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
STA182A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable