กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard and Poor’s (S&P’s) ว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 S&P’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Long-term/ Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long-term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2 พร้อมกับยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale ระยะยาวที่ axAA และระยะสั้นที่ axA-1 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ประเมินการเคลื่อนย้ายและความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่อยู่ในระดับ A ดังรายละเอียดสรุปตามตารางต่อไปนี้
ตารางแสดงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย S&P’s ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2557
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย S&P’s สถานะ Outlook
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาล
ระยะยาว (Long-term Foreign Currency Rating)
ระยะสั้น (Short-term Foreign Currency Rating) BBB+
A-2 Stable
-
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินบาทของรัฐบาล
ระยะยาว (Long-term Local Currency Rating)
ระยะสั้น (Short-term Local Currency Rating) A-
A-2 Stable
-
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale
ระยะยาว (Long-term ASEAN Regional Scale Rating)
ระยะสั้น (Short-term ASEAN Regional Scale Rating) axAA
axA-1 -
หลักการและเหตุผลของ S&P’s สรุปได้ ดังนี้
S&P’s ให้เหตุผลว่า สถานะงบดุลภาคต่างประเทศและสภาพคล่องของประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ระดับหนี้ของรัฐบาลที่เหมาะสม รวมทั้งประวัติการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในขณะที่การเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำโดยเปรียบเทียบและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
ปัจจัยที่ยังคงเป็นจุดแข็งต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ สถานการณ์ลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและระดับสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอ นอกจากนี้ การเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงินเป็นเวลานาน รวมทั้งการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทำให้ประเทศไทยมีทุนสำรองสำหรับรองรับดุลบัญชีเดินสะพัดได้ถึง 7.3 เดือน ภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 24 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ซึ่งเกือบร้อยละ 70 ของภาระหนี้ต่างประเทศโดยรวมมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในหลักทรัพย์) และประเทศไทยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 10 ของรายได้บัญชีเดินสะพัด
S&P’s คาดการณ์ว่า ตัวชี้วัดด้านสภาพคล่องจากต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีระดับลดลงเล็กน้อยจากผลของภาคการส่งออกที่หดตัว ในขณะที่กำลังมีการปรับโครงสร้างของสินค้าาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ S&P’s คาดการณ์ว่า ความต้องการระดมทุนจากต่างประเทศโดยรวมในอีก 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ประมาณร้อยละ 70 ไปเป็นเกือบร้อยละ 80 ของรายรับที่ได้จากการส่งออกสินค้าและบริการในดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองจะลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถรองรับรายจ่ายในดุลบัญชีเดินสะพัดได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งยังคงเป็นระดับที่แข็งแกร่ง
สถานะทางการคลังที่มีการดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างรอบคอบของไทยสะท้อนได้จากการเกินดุลขั้นต้นของรัฐบาลที่ยาวนาน ซึ่งทำให้สามารถรักษาระดับหนี้ของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจต่างๆ ในการนี้ S&P’s คาดการณ์ว่า หนี้สุทธิของรัฐบาลจะยังคงอยู่ในระดับเหมาะสมที่ประมาณร้อยละ 26 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของรายได้ของรัฐบาลนับเป็นข้อจำกัดต่อความยืดหยุ่นภาคการคลังของประเทศไทยในระดับปานกลาง
อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3 ซึ่งเสถียรภาพทางด้านราคาและระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวได้ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของประเทศไทยไว้ การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนอยู่ในระดับปานกลางโดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 102 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2550 เป็นร้อยละ 130 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2556 โดย S&P’s คาดว่า รัฐบาลจะทยอยชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในประเทศตามโครงการรับจำนำข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยรัฐบาลได้ประเมินภาระทางการคลังดังกล่าวไว้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2557
ความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนับเป็นจุดอ่อนต่ออันดับความน่าเชื่อของไทยในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 ได้ชะลอการปฏิรูปด้านโครงสร้างและเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะที่การประท้วงส่งผลเสียต่อภาคการท่องเที่ยว โดย S&P’s เห็นว่า ในระยะสั้นแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ร้อยละ 4 – 5 และรายได้ต่อหัวของประชากรจะสูงกว่า 6,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 2558 ทั้งนี้ รัฐประหารในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ของประเทศกับคืนสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ความไม่ปรองดองทางสังคมและการเมืองยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงความสามารถในการลดความแบ่งแยกระหว่างภูมิภาคและทางชนชั้นอีกด้วย
3. แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ
แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพสะท้อนถึงความคาดหวังของ S&P’s ว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาจุดแข็งด้านต่างประเทศ การคลัง และการเงินไว้ได้ ถึงแม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ S&P’s อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากเสถียรภาพทางการเมืองและองค์กรภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ถดถอยลงเกินกว่าที่ S&P’s ประมาณการไว้ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงหากปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน หากผู้นำทางการเมืองทุกกลุ่มสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ S&P’s เชื่อว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย