กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง(สจล.)สะท้อนพลังอันยิ่งใหญ่ในความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เราเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์สุดล้ำ หลายร้อยปี “หุ่นยนต์ ” ได้กำเนิดจากความคิดฝันและจินตนาการของมนุษย์ และกลายมาเป็นประดิษฐกรรมซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคดิจิตอลในวันนี้ หุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจอุตสาหกรรม, สุขภาพ, ทางครัวเรือนและทางด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ในไลน์การผลิต, หุ่นยนต์สำรวจ, หุ่นยนต์ทางการแพทย์, หุ่นยนต์กู้ภัย หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำ ไซร่า(CIRA ) หุ่นยนต์ช็อปปิ้งช่วยเหลือผู้พิการในซุปเปอร์มาร์เก็ตครั้งแรกของไทย
เทคโนโลยีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า “ปัจจุบันหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยจัดสรรการทำงานของมนุษย์ให้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เช่น ร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่นและในแถบยุโรป ได้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบการทำงานแบบออโตเมติกมาประยุกต์ใช้เพื่อบริการลูกค้าภายในร้านมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ในขณะที่โลกเทคโนโลยีก้าวไกลไปสู่อนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมประชากรสูงวัยปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนเกือบ 10 ล้านคนในประเทศไทย ผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางแขนขามีรวมกว่า 2 ล้านคน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรมาร่วมกันสร้างสรรค์ คิดค้นเป็นประดิษฐกรรมที่โดดเด่นครั้งแรกในประเทศไทย คือ หุ่นยนต์ไซร่า(CIRA) หุ่นยนต์ช่วยช็อปปิ้งสำหรับผู้พิการและผู้สูงวัยในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งปัจจุบันซุปเปอร์มาเก็ตขยายตัวไปทุกเมือง รวมกว่า 10,000 แห่ง หุ่นยนต์ไซร่าจะช่วยเพื่อนมนุษย์ผู้พิการและผู้สูงวัยได้อย่างดี ทั้งนี้เราได้นำไปแสดงให้ประชาชนได้ชมกันในงาน “วิศวกรรม’57” เมื่อวันที่ 27-30 พย.2557 ที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา
นามไซร่า มาจากชื่อศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ของไทย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง(สจล.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวโน้มการพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และได้มีการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ไซร่าและระบบอัตโนมัติ (CIRA-Center of Integrated Robotics and Automation)ขึ้น โดยจะเปิดศูนย์หุ่นยนต์อย่างเป็นทางการในต้นปี 58 มุ่งเน้นเสริมสร้าง Global Engineerในการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์และสังคมยั่งยืนในเศรษฐกิจยุคดิจิตอลอิโคโนมีจากกระแสเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนกระแสอารยสถาปัตย์หรือการออกแบบก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงวัย จะทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆขึ้นมากมายเพื่อเข้ามารองรับผู้พิการและผู้สูงวัยให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งตอนที่อยู่ในบ้านและเวลาออกไปนอกบ้าน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีชีวิตปกติสุขแก่ตนเองและครอบครัว”
ทีมนักสร้าง และที่มาของหุ่นยนต์ไซร่า (CIRA)
หุ่นยนต์ ไซร่า(CIRA) เป็นผลงานของศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ไซร่าและระบบอัตโนมัติ (CIRA- Center of Integrated Robotics and Automation) โดยทีมนักวิจัย ดร.รัชนี กุลยานนท์ ,ดร.ดอน อิศรากร, อ.สองเมือง นันทขว้าง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการวัดและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.และ ผศ.ธีระ ศิริธีรากุล คณะวิทยาศาสตร์ สจล.
ดร.รัชนี กุลยานนท์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ในปัจจุบันการไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ผู้บริโภคนิยมไปซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน คนทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้พิการไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางแขนขาหรือทางสายตา หุ่นยนต์ไซร่า (CIRA)จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประหยัดเวลาในการจับจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้พิการที่ยากลำบากมากและใช้เวลาในการซื้อของนานกว่าคนปกติหรืออาจจะทำไม่ได้เลย นอกจากนี้ คนพิการบางประเภท เช่น คนตาบอด จะไม่สามารถแยกแยะสินค้าที่มีการบรรจุกล่องลักษณะเหมือนๆกันออกได้ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้พิการลำบากขึ้น เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดแรงจูงใจที่อยากจะช่วยให้ชีวิตของผู้พิการในการจับจ่ายใช้สอยหาซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านด้วยตนเอง สะดวกสบายและมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
ประโยชน์และวัตถุประสงค์ในการสร้างหุ่นยนต์ ไซร่า
สำหรับประโยชน์และวัตถุประสงค์ในการสร้างหุ่นยนต์ ไซร่า(CIRA) คือ 1. เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น ตาบอด หรือผู้พิการแขนขา สามารถเลือกซื้อสินค้าได้เองและมีคุณภาพชีวิตจิตใจแจ่มใส, 2.เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและช่วยประหยัดเวลาให้กับกลุ่มคนทำงาน กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่มีเวลาในการจับจ่ายซื้อของมากนักและยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตครอบครัวให้มีเวลาไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆมากขึ้น, 3.เพื่อลดจำนวนการจ้างแรงงานที่กำลังขาดแคลนในร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต และ 4. เพื่อส่งเสริมให้ระบบบริการและการชำระเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ไซร่า (CIRA)
ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ไซร่า(CIRA)สามารถทำงานได้ 2 โหมดให้เลือก คือ ด้วยเสียงและระบบสัมผัส โดยการทำงานด้วยเสียงนั้นใช้ Windows Speech Recognition ส่วนระบบสัมผัส ใช้จอแบบ Touch Screen สำหรับการใช้งานนั้นสามารถเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่ง โดยการออกคำสั่งทางเสียง ผู้ใช้จะต้องใช้คำสั่งที่ขึ้นต้นด้วย "CIRA, ...(คำสั่ง)..." เช่น เมื่อลูกค้าต้องการใช้บริการก็จะเดินไปที่หุ่นยนต์ แล้วพูด "CIRA, hello" เพื่อเริ่มกระบวนการหลังจากนั้น สามารถสั่งซื้อของด้วยคำสั่ง " CIRA, give me a (สินค้าที่ต้องการ)”
ขั้นตอนการใช้หุ่นยนต์ไซร่า(CIRA)สำหรับผู้พิการ โดยใช้เสียง
ตัวอย่างขั้นตอนการใช้หุ่นยนต์ไซร่า(CIRA)สำหรับผู้พิการ โดยใช้เสียง เริ่มจากหุ่นยนต์ไซร่าCIRAจะรออยู่ที่ตำแหน่งเริ่มต้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต เมื่อผู้พิการเดินมาถึงจุดเริ่มต้นแล้วทักหุ่นยนต์ CIRAด้วยคำสั่ง " CIRA, Hello". เมื่อได้รับการทักทายจากผู้ใช้งานแล้ว CIRAจะเริ่มต้นถามว่าเขาต้องการซื้อสินค้าอะไรบ้าง โดยผู้พิการสามารถใช้คำสั่ง " CIRA, I want a ...(ชื่อสินค้า)..." หรือ " CIRA, give me a ...(สินค้า)..." เมื่อสั่งสินค้าที่ต้องการครบแล้ว หุ่น CIRAจะเดินไปหยิบสินค้าที่ลูกค้าต้องการมาให้ณจุดชำระเงิน ซึ่งผู้พิการสามารถชำระเงินโดยใช้บัตรเครดิตผ่านหุ่นหรือชำระด้วยเงินสดกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นก็นำสินค้าออกจากร้านได้
แหล่งพลังงาน และสมรรถนะ
อ.สองเมือง นันทขว้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า หุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม ฟอสเฟต เอโฟร์ ( LiFe04)สามารถจำและหยิบของที่อยู่ที่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้โดยการบันทึกข้อมูลสินค้าทั้งหมดไว้ใน Data base ว่าสินค้ายี่ห้อไหนวางอยู่ที่ตำแหน่งใด หุ่นยนต์จะสามารถเดินไปยังจุดที่วางสินค้าได้ตามที่ต้องการ เมื่อไปถึงตำแหน่งแล้ว ก่อนการหยิบสินค้า จะใช้กล้องตรวจสอบรายละเอียดสินค้าอีกครั้งว่าคือสินค้าที่ต้องการหรือไม่ การใช้ Database ในลักษณะนี้ทำให้ทางร้านสามารถตรวจสอบ Stock ของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วยเมื่อหยิบสินค้าแล้วจะนำลงตระกร้าซึ่งรับน้ำหนักได้รวม 180 กิโลกรัม
ลักษณะดีไซน์ของมือหุ่นยนต์ไซร่า(CIRA)
ลักษณะของมือหุ่นยนต์ไซร่า(CIRA)ในการหยิบของจะเป็นลักษณะเป็นแบบหนีบที่ใช้ปั๊มลม เนื่องจากทำให้สามารถควบคุมแรงได้ อีกทั้งสามารถควบคุมการบีบตามทรวดทรงสินค้าได้หลายรูปทรง ไซร่าสามารถจับสินค้าที่มีด้านกว้างได้ไม่เกิน 10 ซม.และน้ำหนักไม่เกิน 3 กก. สำหรับหุ่นยนต์ CIRA นั้นมีราคาประมาณ 6 แสนบาท
แนวโน้มการพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
สำหรับแนวโน้มการพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น อนาคตคาดการณ์ว่าทุกบ้านจะมีหุ่นยนต์ในบ้าน 1 ตัวเพื่อทำงานบ้านและเป็นเพื่อนดูแลคนในบ้านปัจจุบันผู้คนเริ่มนำหุ่นยนต์มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีระบบอิเลคทรอนิกส์ตรวจจับ ดูแลการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำมาช่วยสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตลอด 24 ชม.สำหรับประเทศไทยนั้น เราสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆรวมทั้งการออกแบบโปรแกรมและโครงสร้างสำหรับหุ่นยนต์ได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ ขาดก็เพียงแต่ชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ ซึ่งถ้ารัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ว่าจะทางด้านการลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ให้ถูกลงหรือสนับสนุนวงการอิเลคทรอนิกส์ของไทยให้พึ่งพาตัวเองได้ ก็จะทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก้าวไปได้เร็วยิ่งขึ้นเพราะคนไทยเก่งไม่แพ้ใคร
ในปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีการพัฒนามากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้กระแสการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและตื่นตัวเป็นอย่างมาก สามารถแบ่งออกได้ 6 ด้าน คือ 1.หุ่นยนต์สำหรับผู้พิการ 2.หุ่นยนต์สำหรับผู้สูงวัย 3.หุ่นยนต์สำหรับให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติธรรมชาติ 4.หุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยในการทำงานที่มีความเสี่ยงภัย 5.หุ่นยนต์ทางด้านการเกษตรและ 6.หุ่นยนต์ที่ใช้ในการป้องกันประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนให้สะดวกสบาย รวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยยิ่งขึ้น